หอการค้าดันแก้ไขปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ แนะซื้อถุงพลาสติก หวังลดปริมาณการใช้ ตะลึง! ขยะล้านตันลงทะเล กระทบต่อสิ่งแวดล้อม/การท่องเที่ยวและสุขภาพ

ดันแก้ขยะเป็นวาระแห่งชาติ – นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และกรรมการขับเคลื่อน Circular Economy หอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดมความคิดเห็นของคณะกรรมการขับเคลื่อน Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และเครือข่าย ที่มีสมาชิกรวมกว่า 120,000 รายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันกำหนดจุดยืนขับเคลื่อน Circular Economy ให้เป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการขยะพลาสติกและขยะอาหารแบบบูรณาการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความยั่งยืนของประเทศ

โดยผลการประชุมได้กำหนดแผนการดำเนินงานในการขับเคลื่อน Circular Economy ไว้ 4 แผน ซึ่งจะขับเคลื่อนผ่านเครือข่าย โดยเน้นหวังผลในเชิงปฏิบัติและบูรณาการครอบคลุมทั้งประเทศ ได้แก่ การรณรงค์ให้ความรู้ เปลี่ยน Mindset โดยเน้น 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป การแยกขยะ การลดขยะอาหารในภาคการค้าและบริการ และการนำอาหารเหลือที่สามารถบริโภคได้บริจาคผู้ขาดแคลน พร้อมทั้งจะเสนอแนะให้ภาครัฐร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะทะเลให้มากยิ่งขึ้น โดยจะเสนอให้รัฐบาลประกาศเรื่องการแก้ไขปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขยะ เช่น การเลิกใช้โฟม การเก็บเงินหากใช้ถุงพลาสติก และการมัดจำขวด รวมทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันรณรงค์ลดการสร้างขยะ พร้อมส่งเสริมการแยกขยะ ทั้งนี้ จะช่วยให้ปัญหาขยะทะเลในประเทศไทยลดน้อยลงได้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ หอการค้าไทยได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาที่มาของขยะทะเล ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า แหล่งที่มาที่สำคัญในไทย ประกอบด้วย ชุมชนหรือร้านค้าที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำและริมชายฝั่ง การท่องเที่ยวริมชายหาด และขยะจากหลุมฝังกลบที่จัดการไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีแหล่งที่มาอื่นๆ ได้แก่ ขยะจากเรือประมง เรือขนส่งสินค้า รวมถึงขยะที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยประเภทขยะที่พบมากที่สุดคือ ถุงพลาสติก กล่องโฟม และถุงก๊อบแก๊บ ทั้งนี้ ในปัจจุบันปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยและของโลก ซึ่งไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด รวมทั้งยังมีขยะอาหารมากถึง 60% ของขยะมูลฝอย หากจัดการแยกขยะอาหารไม่ถูกต้องก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดการขยะโดยรวม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องช่วยกัน

“ปัญหาขยะทะเลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ เพราะนักท่องเที่ยวไม่อยากมาเที่ยว และปัญหาด้านสุขภาพจากการบริโภคสัตว์น้ำ ที่มีสิ่งปนเปื้อนในสินค้าประมง ซึ่งหอการค้าจะนำผลการศึกษาและข้อเสนอการใช้มาตรการเข้าสู่ที่ประชุมหอการค้าใหญ่ทั่วประเทศในเดือนพ.ย นี้ ขณะเดียวก็จะมีมาตรการรณรงค์ลดการใช้ขยะพลาสติก กล่องโฟม และมีการแยกขยะผ่านสมาชิกหอการค้ากว่า 1 แสนราย รวมทั้งเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำหลักสูตรเพื่อให้ความรู้นักเรียนในการแยกขยะด้วย สำหรับการศึกษาวิจัยครั้งนี้ หอการค้าไทยได้ว่าจ้างทีดีอาร์ไอ ศึกษาตั้งแต่เดือนก.พ ถึงเดือนก.ค. วงเงิน 2 ล้านบาท” นางเสาวนีย์ กล่าว

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบว่าขยะทะเลไทยมีถุงพลาสติกมากที่สุด 11.7% กล่องโฟม 9.9% ภาชนะบรรจุอาหาร 8.8% ถุงก๊อบแก๊บ 8.6% ขวดแก้ว 7.5% หลอดดูด 5.1% ทั้งหมดนี้ขยะที่พบในทะเลส่วนใหญ่เป็นพลาสติก ขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยวริมชายหาดที่ไม่มีการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง, ร้านอาหารบริเวณชายหาด ริมแม่น้ำที่ทิ้งขยะลงแม่น้ำ และการฝังกลบที่ไม่ถูกวิธีปัญหาที่เกิดขึ้นหากไม่เร่งแก้ไขจะเป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศ กระทบการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศคิดเป็น 10% ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) กระทบต่อสุขภาพ เพราะเมื่อสัตว์น้ำกินขยะพลาสติก เมื่อผู้บริโภคนำไปกินก็จะมีสิ่งปนเปื้อนจากขยะพลาสติกที่เป็นไมโครพลาสติก

โดยเห็นว่า รัฐบาลควรประกาศให้การแก้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยการออกกฎหมายบังคับเลิกการใช้โฟม เพราะเป็นวัสดุที่ใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าย่อยสลายได้ ส่วนถุงพลาสติกต้องเก็บเงินหากผู้บริโภคต้องการใช้เพื่อลดปริมาณขยะ เช่น ในต่างประเทศซึ่งได้ผลช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลดใช้ถุงพลาสติก ส่วนมาตรการภาคสมัครใจที่ห้างต่างๆ พยายามทำนั้นเห็นว่ายังไม่เพียงพอ เพราะมีเพียงบางวันเท่านั้น ส่วนการเก็บเงินจากการขอใช้ถุงพลาสติกก็มีเพียงบางห้างทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ จึงควรออกกฎหมายบังคับซื้อถุงพลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียว 1-2 บาท

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน Circular Economy หอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยมองเห็นถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในเชิงลบ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและปัญหามลภาวะ อันเนื่องมาจากขยะและของเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการเกษตร โดยขณะนี้ ปัญหาขยะทะเล เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยและของโลก ทั้งนี้ ไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด และขยะที่พบในทะเลส่วนใหญ่คือ “ขยะพลาสติก” ดังนั้น หอการค้าไทย มอบหมายให้ทีดีอาร์ไอ ศึกษาที่มาของขยะทะเลและมาตรการจัดการปัญหาขยะทะเล มากว่า 6 เดือนแล้ว

นอกจากนี้ “ขยะอาหาร” ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของประเทศ เพราะประมาณ 60% ของขยะมูลฝอยทั้งหมดมาจากขยะอาหาร ซึ่งหากจัดการแยกขยะอาหารไม่ถูกต้องก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดการขยะโดยรวม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน