กกร. รับจีดีพีปีนี้จ่อหลุดจากเป้า 2.9-3.3% สารพัดปัจจัยลบรุม ทั้งส่งออกทรุด-บาทแข็งโป๊ก-สงครามการค้า-แล้ง-น้ำท่วม จี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องคุยกันถึงแนวทางรับมือกับปัญหา

จีดีพีปีนี้จ่อหลุดจากเป้า – นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า กกร.ยอมรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย ปี 2562 มีโอกาสเติบโตต่ำกว่าปัจจุบันที่ประเมินไว้ที่ 2.9-3.3% ส่วนหนึ่งมีความกังวลจากปัญหาเงินบาทที่แข็งค่ากว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคและมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง จึงอยากให้ทางการออกมาตรการเพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาทโดยเร็ว เพราะหากปล่อยให้สภาวะการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อส่งออกลดลงตามไปด้วยจากที่คาดการณ์ส่งออกปีนี้ไว้ที่ติดลบ 1% ถึงโต 1% และฉุดจีดีพีที่คิดว่าจะโตต่ำกว่าเป้าหมายอยู่แล้วให้มีโอกาสลดลงได้อีก

โดย กกร. มองในช่วงที่เหลือของปีนี้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางความกดดันต่างๆ ทั้งจากภาคต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และปัญหาการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลี ความเสี่ยงจากประเด็นที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภายในประเทศก็ถูกกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และล่าสุดเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กกร. ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินผลกระทบประกอบการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมรอบถัดไปช่วงเดือนต.ค.นี้ โดยมองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกจาก 1.25% เพื่อหวังจะช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติอาจไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าเงินบาทได้ทั้งหมด เพราะการแข็งค่าของเงินบาทขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น พื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เห็นได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุล ทำให้มีเงินเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง เป็นต้น”

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้จะเห็นค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และแข็งค่าค่อนข้างมากเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยแข็งค่าขึ้น 14% เมื่อเทียบค่าเงินวอนของประเทศเกาหลี และค่าเงินหยวนของจีน ขณะที่ค่าเงินดองของเวียดนามทรงตัว

ที่ประชุมจึงเห็นควรต้องกลับไปเร่งศึกษาหาข้อมูลที่ชัดเจนถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาเพื่อรีบนำกลับมาเสนอรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งไม่เพียงแต่จะแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น แต่ต้องเตรียมรับมือกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณจะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในครั้งถัดไป เท่ากับจะยิ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า และส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่าอีก สุดท้ายก็จะส่งผลกระต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยไปด้วย

“ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องคุยกันถึงแนวทางรับมือกับปัญหา ซึ่งเราอาจใช้จังหวะที่เงินบาทแข็งค่านี้สนับสนุนให้มีการออกไปลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้นด้วย รวมถึงการออกพันธบัตรที่ต้องทำโดยเร็ว อีกทั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทางการเงิน ทั้งธปท. สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กระทรวงการคลัง ก็ออกมาดูแลจริงจังมากขึ้น”นายสุพันธุ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน