วันที่ 5 ก.ย. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน และรถไฟฟ้า (บีทีเอส) ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ. ชี้แจงว่า ผลการพิจารณาของกมธ.แบ่งออกเป็น 2 เรื่องใหญ่ 1.ผลการพิจารณาศึกษาเรื่องการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน โดยกมธ.เสียงส่วนใหญ่ เห็นว่า ควรขยายสัมปทานทางด่วนเพื่อเป็นการยุติข้อพิพาททั้งหมดระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้าจำกัด (มหาชน) (BEM) เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาการแพ้คดีต่างๆ ซึ่งจะเป็นข้อพิพาทในอนาคต โดยเฉพาะจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้กทพ. แพ้แล้ว 1 คดี และต้องชดเชยค่าเสีย เป็นมูลค่ากว่า 4.3 พันล้านบาท ซึ่งข้อพิพาทอื่นล้วนเป็นคดีขอพิพาทในลักษณะเดียวกันกับที่ศาลได้พิพากษาเป็นบรรทัดฐานแล้ว ดังนั้นหากการกทพ.พิพาทคดีต่อไปโดยไม่เจรจา มีโอกาสที่สูงที่จะแพ้คดีที่มูลค่าสูงสุดทุกคดีรวมดอกเบี้ยเป็นเงิน 3.2 แสนล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาวะทางการเงินของกทพ.ได้

นายวีระกร กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพการจราจรในส่วนของทานด่วนชั้นที่ 2 อยู่ในสภาพวิกฤต จากการศึกษาพบว่า หากมีการปรับปรุงทางด่วนจะสามารถลดเวลาการเดินทางได้ ดังนั้น เงื่อนไขต่างๆกมธ.ขอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ และโปร่งใส่ รวมถึงกระทำโดยชอบด้วยกฏหมาย และควรกำหนดสัดส่วนผลประโยชน์ระหว่างรัฐ และเอกชน รวมถึงปรับค่าผ่านทางให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด กับ 2.การขยายสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอส โดยกมธ.เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย กรณีที่กทม.จะขยายสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพราะสัญญาเส้นทางหลัก ยังเหลืออีกหลายปี เมื่อสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ทำให้รัฐมีอำนาจในกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้งหลายที่จะโอนกลับมา และจะทำให้รัฐมีอำนาจในการต่อรองของการกำหนดอัตราค่าโดยสารจะถูกลง ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้ ส่งผลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง จราจรในกทม.ดีขึ้น จึงขอให้สภาฯพิจารณาและให้ความเห็นชอบเสนอรายงาน ข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตไปยังครม.เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

จากนั้น กมธ.ที่ขอสงวนความเห็นได้อภิปราย โดยนพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะกมธ. ชี้แจงว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมาย อีกทั้งคณะอัยการที่มาให้ความเห็นต่อกมธ. ยังเห็นว่า มีประเด็นที่จะสู้ต่อได้ ตนจึงเห็นว่า ทางออกของกาตต่อสัมปทานทางด่วนมี 3 แนวทาง คือ 1.หากต่อสัมปทานให้ BEM 30 ปี กทพ.จะมีรายได้ 3 แสนล้านบาท BEM จะมีรายได้ 1.7 แสนล้านบาท ประชาชนเสียประโยชน์ 7.75 หมื่นล้านบาท 2.หากไม่ต่อสัมปทานแล้วกทพ.สู้ทุกคดี แต่แพ้เกือบทุกคดี แม้กทพ.จะมีรายได้ 7 แสนล้าน แต่กทพ.จะเหลือเงินเพียง 1.7 แสนล้านบาท BEM ได้เงินจากการชนะคดี 3 แสนล้านบาท และได้รายได้บางส่วนจากค่าผ่านทางที่จะทยอยหมดอายุสัมปทานไปจนถึงปี 2570 รวม BEM จะมีเงินคงเหลือกว่า 3 แสนล้านบาท ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทางเพิ่มตลอด 30 ปี มูลค่า 7.75 หมื่นล้านบาท และ 3.หากไม่ต่อสัญญาสัมปทานแล้วกทพ.สู้ทุกคดี แต่แพ้ครึ่ง ชนะครึ่ง กทพ.จะมีรายได้ 7 แสนล้านบาท แต่จะเหลือเงิน 2.7 แสนล้านบาท BEM ได้เงินจากชนะคดี 2 แสนล้านบาท ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทางเพิ่มตลอด 30 ปี มูลค่า7.75 หมื่นล้านบาท

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ.เสียงข้างมาก ลุกขึ้นโต้แย้งความเห็นนพ.ระวี ว่า ตนไม่รู้ว่านพ.ระวี ไปเอาตัวเลขต่างๆมาจากไหน หากท้ายที่สุดผลออกมาไม่ตรงตามนั้น นพ.ระวี จะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ข้อสังเกตของกมธ.ที่ขัดแย้ง และไม่เป็นเอกภาพ ทำให้อาจมีปัญหาต่อการส่งรายงานให้หน่วยงานไปปฏิบัติ เพราะในรายงานกมธ.ไม่ได้ระบุถึงเหตุผลต่อการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล บุคคลที่กระทำผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการรู้ ขณะที่ข้อสังเกตของกมธ. และมีความเห็นส่วนบุคคลระบุไว้ เชื่อว่า ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ และที่สำคัญหากสภาฯให้ความเห็นรายงานฉบับนี้อาจถูกตีความการทำงานได้ แม้ว่ารายงานของสภาฯจะไม่มีผลผูกมัดใดๆ ต่อหน่วยงาน สัญญาสัมปทานทางด่วน อนุมาณว่าเสียงส่วนร่วมควรต้องต่อ เพื่อไม่ให้แพ้คดี หลังจากที่มีคดีแรกมีคำตัดสินแล้ว ขณะที่การขยายสัญญาบีทีเอสไม่ควรต่อสัญญา และมีความเห็นส่วนตัวของกมธ. ซึ่งที่ผ่านมารายงานของกมธ. ไม่เคยมีเขียนแบบดังกล่าว จึงขอฝากกมธ.ที่ต้องทำงานแทนสภาฯ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของสภาฯ ให้มาก ไม่ใช่ทำรายงานที่นำไปอ้างอิงใดๆ ไม่ได้ จึงขอให้นำรายงานกลับไปทบทวน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งนายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า “มีข่าวลือว่า กมธ.มีส่วนได้ส่วนเสียกับการต่อสัญญาสัมปทาน ผมไม่เชื่อนะ แต่ถ้าเป็นจริงจะเป็นเรื่องเลว ชั่วที่สุด” แต่นายศุภชัย โพธ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ขอให้ถอนเพราะ เป็นการกล่าวหา นายนวัธ ยอมถอน แต่ขอใช้คำว่า “มีคนมาพูดกับผมแบบนี้ จึงขอให้กมธ.เอารายงานฉบับนี้ออกไปก่อน อย่างเพิ่งลงมติ” ทำให้ นายยุทธพงศ์ ในฐานะกมธ. ลุกขึ้นประท้วงว่า “ท่านนวัธ พูดแบบนี้ถือเป็นการเรื่องเสียหาย อย่าปล่อยคนที่พูดกับท่าน ผมขอท้าให้ดำเนินคดี เอาให้ติดคุยเลย เพราะกมธ.ชุดนี้รับรองได้ว่า ไม่มีใครคดโกง และไม่มีใครพัวพันกับคดีฆ่าคนตายแน่นอน” ทำให้นายนวัธ ลุกประท้วงกลับ ทำให้นายศุภชัย ได้พยายามตัดบทให้การประชุมดำเนินการต่อไป

ภายหลังจากอภิปรายกว่า 4 ชม. ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตของกมธ.วิสามัญฯ เห็นควรให้ ขยายสัมปทานทางด่วนเพื่อเป็นการยุติข้อพิพาททั้งหมดระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้าจำกัด (มหาชน) (BEM) แต่ไม่เห็นควรให้มีการขยายสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอส ด้วยคะแนน 412 ต่อ 25 งดออกเสียง 20 คะแนน ก่อนเสนอรายงานวิสามัญฯให้ครม.พิจารณาต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน