สร.กฟผ. นัดแต่งดำแห่ยื่นหนังสือค้าน ‘สนธิรัตน์’ ล้มประมูลแอลเอ็นจีไม่เป็นธรรม พร้อมจ่อขายไฟให้เมียนมา-สั่งการบ้าน ปตท. ดูลู่ทางลงทุนปิโตรเคมี-ก๊าซธรรมชาติ

สร.กฟผ. นัดแต่งดำ – นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เตรียมเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการล้มประมูลการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในวันที่ 6 ก.ย. ที่กระทรวงพลังงาน ว่า ทางกระทรวง พร้อมรับฟังปัญหาและชี้แจงเรื่องดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นยังไม่ได้มีการพูดคุยประเด็นนี้กับทางบริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นผู้ประมูลการนำเข้าแอลเอ็นจีของ กฟผ. แต่อย่างใด

ด้านนายศิริชัย ไม้งาม ประธานสร.กฟผ. กล่าวว่า วันที่ 6 ก.ย. ตัวแทนสร.กฟผ. จะเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ยกเลิกการประมูลการนำเข้าแอลเอ็นจีโดยกฟผ. ไม่เกิน 1.5 ล้านตัน พร้อมนัดนัดพนักงานทั่วประเทศแต่งดำเพื่อเป็นสัญลักษณ์คัดค้านมติดังกล่าวที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมกับ กฟผ. เนื่องจากที่ผ่านมา กฟผ. เปิดประมูลแอลเอ็นจี ตามนโยบายของรัฐบาลทั้งสิ้นเพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น

“ที่สำคัญหากมีการยกเลิกการประมูลครั้งนี้ ปิโตรนาสแอลเอ็นจี ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของประเทศมาเลเซียในฐานะผู้ชนะประมูล อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”นายศิริชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานให้เหตุผลว่าการนำเข้าแอลเอ็นจีน 1.5 ล้านตันของกฟผ. จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าประมาณ 2 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากเกิดปัญหาค่าปรับตามสัญญาไม่ใช่ก็ต้องจ่าย (Take or Pay) และให้ทดลองนำเข้าในรูปแบบตลาดจรไม่เกิน 2 ลำเรือ (ลำละ 9 หมื่นตัน) ที่กระทรวงพลังงาน และเตรียมยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะมีการประชุมวันที่ 12 ก.ย.นี้

นายศิริชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลต้องการให้ไทยเป็นฮับแอลเอ็นจีในอาเซียน ไทยต้องสามารถแข่งขันได้ด้วยราคาที่ถูกกว่า จึงต้องการให้รัฐบาลทบทวนเรื่องนี้ เพราะหากให้กฟผ. นำเข้าแบบตลาดจรก็ควรยึดให้เหมือนกันหมด เพราะราคาจะอยู่ที่ประมาณ 6 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 200 บาทต่อล้านบีทียู

ส่วนกรณีที่ระบุว่า ราคาสัญญาระยะกลางที่ประมูล 8 ปี มีราคาสูง 7.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู จึงให้นำเข้าด้วยราคาตลาดจรที่ขณะนี้มีราคา 3-4 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียูนั้น ในโลกค้าพลังงานก็ทราบกันดีราคาตลาดจรเป็นราคาชั่วคราวไม่สามารถการันตีได้ว่าจะถูกเช่นนี้ตลอดไป และหากมอง 5 ปีข้างหน้าตลาดแอลเอ็นจีเป็นของผู้ขายราคาอาจสูงขึ้นกว่านี้ ที่สำคัญการประมูลรอบนี้ก็ต่ำกว่าสัญญาที่ ปตท. นำเข้าระยะยาวทุกสัญญา

นายสนธิรัตน์ ยังกล่าวในโอกาสหารือร่วมกับประเทศเจรจา รวมถึงองค์กรระหว่างระหว่างประเทศด้านพลังงาน ในการประชุม AMEN ครั้งที่ 37 ว่า ไทยได้หารือกันแบบททวิภาคีกับประเทศเมียนมา เพื่อหาแนวทางตอบสนองอาเซียนพาวเวเวอร์กริด โดยล่าสุดเมียนมาแสดงความความต้องการที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากไทย ซึ่งต้องพิจารณาเงื่อนไขด้านราคาอีกครั้งให้สอดคล้องไปกับปริมาณไฟฟ้า เนื่องจากเมียนมาอยู่ในช่วงที่กำลังพัฒนาประเทศ และต้องการขยายการขยายธุรกิจ รวมถึงภาคอุตสาหกรรม แต่ยังมีพื้นที่ที่ขาดแคลนไฟฟ้าอยู่รวมกว่า 50% ของประเทศ โดยเบื้องต้นมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันศึกษาด้านเทคนิคและระบบการค้าขาย

นอกจากนี้ มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ศึกษาแนวทางเข้าไปลงทุนธุรกิจก๊าซและปิโตรเคมีทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เมียนมากำลังขยายตัว ส่วนการลงทุนด้านก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ต้องไปดูแนวทางพัฒนาระบบท่อรองรับการขนส่ง ส่วนด้านก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) มีผู้ประกอบการไทยบางรายเข้าไปลงทุนแล้ว แต่ก็อยากหารือกันในระดับรัฐบาลเพื่อเกิดนโยบายส่งเสริมการลงทุนการลงทุนเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน