‘เฉลิมชัย’ ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง – อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 46,331 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 61%

‘เฉลิมชัย’ เกาะติดสถานการณ์น้ำ – นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังติดตามสถานการณ์น้ำและมอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน สามเสน ว่า ในวันนี้ได้ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ โดยมีการ VDO Conference เพื่อติดตามสถานการณ์กับสำนักงานชลประทานที่ 1-17 ทั้งในส่วนของภัยแล้ง อุทกภัย และการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น

จากการรายงานขณะนี้มีปริมาณฝนตกลดน้อยลง ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้คือการรับมวลน้ำที่มีการสะสมตั้งแต่ภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งสถานการณ์โดยรวมกำลังกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ถ้าไม่มีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นในปริมาณที่มาก คาดว่า 2-3 วันนี้จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ อีกทั้งได้สั่งการให้เตรียมระวังในทุกพื้นที่ ทั้งด้านบุคคลากรและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีการเฝ้าระวัง ตลอด 24 ชั่วโมง โดยพื้นที่ที่จะต้องเตรียมรับมวลน้ำคือ จ.ยโสธร อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ที่น้ำชีจะไหลมารวมกัน จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการโดยการผลักดันน้ำลงแม่น้ำโขง และทำการหน่วงน้ำให้ลงพื้นที่นี้น้อยที่สุด ถ้าสามารถนำน้ำไปลงพื้นที่ในทุ่งหรือพื้นที่กักเก็บน้ำแห่งใหม่ได้ ก็จะเป็นการบริหารจัดที่ไม่ทำให้เสียเปล่า ซึ่งขณะนี้ทางกรมชลประทานก็กำลังดำเนินการอยู่

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าสำรวจความเสียหายหลังจากน้ำลดแล้ว และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อรัฐบาลจะได้ประเมินความเสียหายและมีการชดเชยต่อไป ขณะนี้คาดว่าภายในเดือนก.ย.นี้ เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วจะมีพื้นที่รองรับน้ำได้ถึง 2,000-3,000 ล้านลบ.ม. แต่ในขณะนี้ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าไปในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่การเกษตรที่กำลังจะเก็บเกี่ยว หากทำตรงนี้ได้ความเสียหายก็จะลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเดิม เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการกำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ กำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นตามแต่ละช่วงเวลาด้วย

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว ได้สั่งการให้กรมชลประทานสำรวจพื้นที่ที่จะเป็นแหล่งรองรับน้ำ เช่น ทุ่งบางระกำ และทุ่งทะเลหลวง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่รองรับน้ำไว้ใช้ในแล้งหน้า และเพื่อการอุปโภค-บริโภคด้วย โดยพื้นที่ที่จะมาแหล่งรองรับน้ำนี้รัฐบาลจะหาวิธีการเยียวยา เช่น จ่ายค่าเช่า เป็นต้น ให้พื้นที่เหล่านั้นได้อยู่อาศัยได้ แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบของกฎหมาย และจะมีการส่งเสริมอาชีพ อาจมีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำทั่วประเทศในระยะที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนตกในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและปริมาณน้ำท่าในลำน้ำต่างๆ เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ย. 2562) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 46,331 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้านลบ.ม.) คิดเป็น 61% ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 22,401 ล้านลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 29,000 ล้านลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,855 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 44% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 4,159 ล้านลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 14,000 ล้านลบ.ม.

ด้านสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสาขาทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากพื้นที่ตอนบนของประเทศมีปริมาณฝนที่ตกหนัก และฝนที่ตกสะสมมากขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.ย. 2562 เวลา 08.00 น.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ 1,399 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 5 เมตร และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 824 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มที่ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงประมาณ 700-900 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ได้แก่ บริเวณ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา จะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.50-1.00 เมตร ปริมาณน้ำดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน ยังคงมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 14 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สกลนคร และนครพนม การช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้จัดส่งเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ไปช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมทั่วประเทศ แบ่งเป็นเครื่องสูบน้ำ 83 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 56 เครื่อง รถบรรทุก 6 คัน และกาลักน้ำ 20 แถว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน