พิษเศรษฐกิจซัดส่งออกส.ค.หวนติดลบ 4% สินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมหดตัว – 8 เดือนก็ยังลดลง 2.19% คาดทั้งปีโต 0%

พิษเศรษฐกิจซัดส่งออกส.ค.ติดลบ4% – น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงตัวเลขการส่งออกของประเทศเดือนส.ค. 2562 พบว่าการส่งออกกลับมาติดลบ 4% โดยมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 21,914.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่นำเข้าติดลบถึง 14.62% หรือคิดเป็นมูลค่า 19,862.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยยังเกินดุลการค้าอยู่ที่ 2,052.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขส่งออกไทยตลอด 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ไทยส่งออกได้ทั้งสิ้น 166,090.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 2.19% ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 158,984.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 3.61% แต่ยังได้ดุลการค้ารวมอยู่ที่ 6,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยอมรับว่าสาเหตุส่งออกไทยปรับตัวลดลงเดือนส.ค. มาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ทำให้หลายตลาดรวมถึงไทยส่งออกลดลงค่อนข้างพอสมควร

โดยพบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ 4.4% ซึ่งสินค้าเกษตรที่หดตัว ได้แก่ ข้าว หดตัว 44.7% โดยหดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ จีน กานา และแคเมอรูน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 25.3% หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวในตลาดไต้หวัน สหรัฐ และเกาหลีใต้ ยางพารา หดตัว 7.2% หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัว 10.8% หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น แคนาดา เครื่องดื่ม หดตัว 8.9% หดตัวในตลาดเวียดนาม จีน ลาว และฟิลิปปินส์ รวม 8 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ 2.2%

ขณะที่ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมก็กลับมาหดตัวที่ 1.9% โดยพบว่า สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวเกือบทุกตลาดที่ 27.7% หดตัวในตลาดจีน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวที่ 12.6% หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดจีน สหรัฐ และซาอุดิอาระเบีย เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 10.5% หดตัวในตลาดฮ่องกง จีน เนเธอร์แลนด์ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว หดตัว 9.5% ในตลาดญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย รวม 8 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ 1.5%

ทั้งนี้ หลายปัจจัยดังกล่าวที่ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกของไทยกลับมาติดลบนอกจากภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าและความไม่มั่นคงสถานการณ์ในตะวันออกกลางส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวน ประกอบกับภาพรวมของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยหลักส่งผลให้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าจนราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดถูกกระทบ เช่น ข้าวไทย หลายประเทศหันไปซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนามและเมียนมาแทน จากคาดการณ์ไว้ว่าจะส่งออกข้าวไทยไม่ถึง 10 ล้านตันแน่นอน ดังนั้น จะหารือกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์เร่งปรับเปลี่ยนวิธีการทำตลาดข้าวไทยและเตรียมนำคณะเยือนประเทศคู่ค้า เพื่อเร่งเชิญชวนหันกลับมาซื้อข้าวไทยเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังมองว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด แต่คาดหวังการส่งออกเฉลี่ยรายเดือนน่าจะอยู่ที่ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลให้ยอดการส่งออกโดยรวมทั้งปีไม่ติดลบ แต่จะขยายตัวได้เพียง 0% จากเดิมคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3% หรือจะต้องผลักดันส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนถึง 23,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น คงทำได้ยากจากหลายปัจจัยที่ยังไม่ค่อยดีนัก แต่เชื่อว่าจากแนวทางที่ร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนจะทำให้การส่งออกของไทย แม้จะไม่เป็นบวกมากนัก แต่สามารถรักษาฐานการส่งออกได้สูงอยู่ก็ดีแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน