‘สุริยะ’ ชูอุตฯ 4.0 ขับเคลื่อนไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ดันจีดีพีโต 6.4% ติดต่อกัน 10 ปี เตรียมชงครม. เคาะแผนดึงลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต-ระบบราง ด้าน ‘สนธิรัตน์’ ฟุ้งเอกชนสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว 2 แสนล้าน ปั้นไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าภูมิภาค

ดันจีดีพีโต6.4%ติดต่อกัน10ปี – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนา “THE NEXT THAILAND 4.0:ทางออกเศรษฐกิจไทย..ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก” จัดโดยธนาคารกรุงไทย ว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางภายใน 10 ปี จากปี 2561 รายได้ต่อประชากรของไทยอยู่ที่ 6,610 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เทียบกับรายได้ขั้นต่ำของประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ 12,235 ดออลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ก่อนที่ไทยจะก้าวเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยตั้งเป้าหมายอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เฉลี่ยขั้นต่ำ 6.4% ต่อปีต่อเนื่อง 10 ปีนับจากนี้

ทั้งนี้ เนื่องจากความชัดเจนโครงการเขตพัฒนาพิเศษเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมที่จะทยอยออกมาช่วยให้ไทยสามารถช่วงชิงความได้เปรียบในการเป็นฐานผลิตในบางอุตสาหกรรม จากผลพวงของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้เกิดกระแสการย้ายฐานลงทุนของบริษัทข้ามชาติเข้ามาในไทยมากขึ้น

โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประสานการดำเนินงานกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อจัดทำร่างกรอบแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการลงทุนเพื่อชักจูงและรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติมายังประเทศไทย ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ นักลงทุน ในการจัดอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ ประจำปี 2562 พบว่าประเทศไทยยังมีจุดเด่นที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน

“ไทยมีจุดเด่นสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตามแนวทางยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มุ่งใช้เทคโนโลยีมาพัฒนา โดยเฉพาะแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายใน 2 เดือน เน้นนวัตกรรมมาช่วงเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรยกระดับเศรษฐกิจฐานราก อีกทั้งยังอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคมนาคมดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนระบบราง ตู้ขนส่งรถไฟ คาดในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการโบกี้ประมาณ 15,000 ตู้”นายสุริยะกล่าว”

อย่างไรก็ตาม ไทยเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนในอีอีซี การมีอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตที่เข้มแข็งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน สมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี เศรษฐกิจชีวภาพ ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางของตลาดในภูมิภาคซีแอลเอ็มวีที (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) รวมทั้งตลาดอาเซียน และเอเชีย

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการให้ความสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนจำนวนมาก คาดมูลค่าประมาณ 1-2 แสนล้านบาท ซึ่งกระทรวงพลังงานค่อนข้างเปิดกว้าง ไม่ได้จำกัดว่าแต่ละพื้นที่ต้องมีกำลังการผลิตมากน้อยเท่าไหร่ แต่เบื้องต้นอาจกำหนดไม่น่าเกิน 10 เมกะวัตต์หรือเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (วีเอสพีพี) เนื่องจากไม่ต้องการให้มีภาระค่าขนส่งวัตถุดิบ คาดจะมีแผนออกมาชัดเจนภายใน 1-2 เดือนนี้ และต้นปีหน้าจะได้เห็นโรงไฟฟ้านำร่องเกิดขึ้นมากกว่า 1 โรง

“เรามีแนวคิดสร้างโรงไฟฟ้าระบบไฮบริดที่มีการผสมผสานระหว่างไบโอแก๊ส ไบโอแมส ขยะ และพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ที่ปัจจุบันต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ราคาเฉลี่ยถูกลง ซึ่งข้อดีของการใช้ระบบผสมผสานจะช่วยกระจายความเสี่ยงเรื่องข้อจำกัดด้านปริมาณเชื้อเพลิง สร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบเชื้อเพลิงให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ช่วยลดภาระต้นทุนค่าไฟให้ถูกลงตามไปด้วย อย่างประเทศในตะวันออกกลางมีต้นทุนค่าไฟ 1.90 บาทต่อหน่วยเท่านั้น โดยอาจนำร่องในพื้นที่ที่วัตถุดิบทางการเกษตรมีความพร้อม และมีสายส่งสามารถรับซื้อไฟได้ ซึ่งจากการสำรวจพบพื้นที่กว่า 1,000 จุดที่เข้าข่ายดำเนินการได้ เช่น เกาะ ชายแดน และพื้นที่ที่ต้องการช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร”

อย่างไรก็ตาม เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีรายได้ สร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงด้านพลังงาน โดยภายใน 1-2 ปีนับจากนี้ ตั้งเป้าหมายเปลี่ยนแปลงการลงทุนด้านไฟฟ้าของประเทศให้ลงไปสู่ชุมชน ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงธุรกิจพลังงานมากขึ้นด้วยการเป็นเจ้าของธุรกิจพลังงานสะอาดเป็นจุดแข็งของไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรม 90% ของประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกับโลกที่น้ำมันจะมีบทบาทน้อยลง โดยตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน เพราะต้องยอมรับว่าไทยไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงราคาถูก เช่น นิวเคลียร์ และถ่านหิน ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน