หนึ่งประเด็นร้อนในโลกเศรษฐกิจ การลงทุน ช่วงหนึ่งปีให้หลังมานี้ คงหนีไม่พ้นหัวข้อที่ว่า “วิกฤติเศรษฐกิจ กำลังมา?” ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะ Cycle ของตัววิกฤติเองที่จะเกิดขึ้นทุก 10-12 ปี เศรษฐกิจที่ดูซบเซา ไม่คึกคักเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ วันนี้เราจึงมีมุมมองจาก “ดร.วิน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST) ผู้คร่ำหวอดในแวดวงเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน มาวิเคราะห์ให้ฟังถึงสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ว่าอยู่ในภาวะไหนกันแน่

วิกฤติเศรษฐกิจคืออะไร ?

“ดร.วิน” วิกฤติเศรษฐกิจ คือ ภาวะที่เศรษฐกิจไม่มีการเติบโต (GDP ติดลบ) ต่อเนื่องเลยเป็นสิ่งที่ทุกคนกลัวว่าจะเกิดขึ้นครับ เพราะสิ่งที่มากับวิกฤติเศรษฐกิจ มันส่งผลกระทบต่อปากท้องของทุกคนทุกชนชั้น วิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติทางการเงินมักจะมาพร้อมกัน สัญญาณที่เราจะเห็นได้ก็คือ ราคาทรัพย์สินต่าง ๆ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ ที่ดินเปล่า ราคาตกลงอย่างมีนัยสำคัญ มีการเติบโตแบบถดถอยต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ไตรมาสขึ้นไป

ตอนนี้เราอยู่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจอย่างที่หลายๆ คนกลัวรึเปล่า ?

“ดร.วิน” ตอนนี้ถ้าพูดให้ชัดเจนเราไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจครับ แต่ถ้าจะอยู่ในภาวะใดภาวะหนึ่งเราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว คือ ก่อนหน้านี้ภาวะเศรษฐกิจของเราเติบโตต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี พอมาในช่วงนี้มันไม่พุ่งอย่างที่เคย มันเลยทำให้คนที่เคยพีคสัมผัสและรู้สึกได้ อาจจะทำให้หลายคนใจคอไม่ดี แต่ที่จริงแล้วเศรษฐกิจมันไม่ได้ถดถอยครับ มันยังคงเติบโตอยู่ แต่เติบโตแบบชะลอลง เปรียบเทียบง่าย ๆ คือ เราเคยขายของได้ 100 บาท โตทุก ๆ ปี ปีละ 10% ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น แต่ช่วงที่เศรษฐกิจชะลอเราขายได้เท่าเดิมหรือลดลงเล็กน้อย แต่ถ้าเศรษฐกิจถดถอยนั้นเป็นภาวะที่ทำให้เราขายไม่ได้เลยครับอันนี้จะเป็นทั้งภาพรวมนะครับไม่ใช่กับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง

มั่นใจได้แค่ไหนว่าเราจะไม่ต้องเจอกับวิกฤติทางเศรษฐกิจเร็วๆนี้เพราะถ้านับกันตาม Timeline จากวิกฤติเศรษฐกิจซับไพรม์ และประเมิน Cycle ของวิกฤติ เราสามารถคาดการณ์ได้ว่ามันใกล้เข้ามาเต็มที ?

“ดร.วิน” โดยส่วนตัวผมมองว่าอย่างน้อยในระยะ 1 ปีจากตอนนี้ ยังไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจแน่นอน เราดูได้จากในระยะสั้นธนาคารกลางทั่วโลกและภาครัฐพยายามอย่างยิ่งที่จะประคับประคองเศรษฐกิจ คือ อาจจะเกิดวิกฤติขึ้นได้แต่ผมเชื่อว่า Cycle ของวิกฤติจะถูกยืดออกไปจากบทเรียนในอดีตที่เกิดขึ้นทำให้ทุกฝ่ายพยายามอย่างเต็มที่เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านช่วงนี้ไป ทั้งการสร้างสภาพคล่องทางการเงิน บวกกับเพิ่มนโยบายส่งเสริมต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้โดยเร็ว

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ “ผู้คนไม่จับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจซบเซา” ทั้งๆที่ไม่ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ อันนี้เกิดจากอะไร ?

“ดร.วิน” เกิดจากการที่คนรับรู้ได้ว่ามันเติบโตช้าลง ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในอนาคต และลดการจับจ่ายใช้สอยที่ไม่จำเป็นลง จึงทำให้ภาพโดยรวมเกิดความตื่นตระหนก และลดการใช้จ่ายกันเป็นทอดๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้เกิดการเคลื่อนตัวช้าลงครับ

ควรเตรียมตัวรับมือกับภาวะที่เกิดขึ้นอย่างไร ?

“ดร.วิน” อันนี้เป็นเรื่องที่เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือคนทั่วไป ควรทำกันให้เป็นปกติแม้ว่าจะอยู่ในช่วงภาวะใดก็ตาม ประกอบด้วย

  1. ลดภาระหนี้สินส่วนตัวและครอบครัว
  2. หมั่นวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจของตนและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
  3. วางแผนให้ดี

ตรงนี้เราควรดูแลกันตั้งแต่เป็นบุคคลเลยครับ ถ้าเศรษฐกิจของตัวคุณดี มีความมั่นคง แล้วทุกคนเป็นแบบเดียวกัน นั่นก็คงจะยากที่จะทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เริ่มจากการเตรียมตัวดูแลเศรษฐกิจส่วนตัวของคุณ ขยายไปดูแลครอบครัว ขยายไปดูแลกิจการด้วยรูปแบบเดียวกัน มันจะกลายเป็นหน่วยเศรษฐกิจย่อยที่แข็งแรงขยายออกไปเรื่อย ๆ ครับ และถ้าวันนึงเกิดวิกฤติขึ้นมาแบบฉับพลัน คุณเองจะแข็งแรงพอที่จะรับมือมัน เพราะคุณได้เตรียมพร้อมมาตลอด

แนะนำลงทุนอย่างไรท่ามกลางเศรษฐกิจเช่นนี้ ?

“ดร.วิน” เป้าหมายการลงทุนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่หากให้ผมแนะนำการลงทุนในยามที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวเช่นนี้ 1. ลงทุนในกองทุนอสังหาฯ หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) 2. ลงทุนในหุ้นปันผล อาทิ หุ้นสาธารณูปโภค และหุ้นสื่อสาร 3. ลงทุนตราสารหนี้ต่าง ๆ แบบระยะกลางไม่เกิน 5 ปี

นอกจากนี้ควรระมัดระวังการใช้จ่ายให้มากขึ้น เก็บออมให้มากขึ้น หรือคิดง่ายๆ ควรออม 30% ของเงินเดือนทุกเดือนจะช่วยลดความเสี่ยงของตัวคุณเองได้


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน