ครม.ลดภาษีน้ำผัก-ยาเส้น สรรพสามิตยัน 1 ต.ค.นี้ จะปรับภาษีความหวานเพิ่มขึ้นอีกรอบหากผู้ผลิตยังไม่สามารถลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มได้จะต้องเสียภาษีอีกเท่าตัว

ลดภาษีน้ำผักผลไม้-ยาเส้น – รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2562 เห็นชอบมาตรการทางภาษีสรรพสามิต 2 มาตรการ ส่วนแรกเป็นการออกพิกัดภาษีสรรพสามิตใหม่สำหรับเครื่องดื่มนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ (ฟังก์ชันนอล ดริงค์) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคเครื่องดื่มที่ส่งผลดีต่อสุขภาพมากขึ้น โดยในส่วนของเครื่องดื่มประเภทน้ำเปล่าที่มีส่วนผสมของนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น การผสมคอลลาเจน ผสมวิตามินจะถูกเก็บภาษีเพียง 10% ลดจากเดิมที่ต้องเสียภาษีในพิกัดเครื่องดื่มทั่วไปที่ 14%

นอกจากนี้ เครื่องดื่มประเภทน้ำผัก ผลไม้ ที่มีส่วนผสมของนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ จะถูกเก็บภาษีเพียง 3% ซึ่งลดลงจากเดิมที่ต้องเสียภาษีถึง 10% โดยการออกพิกัดภาษีเครื่องดื่มทั้ง 2 ประเภทจะมีผลบังคับใช้พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้แนวโน้มของราคาเครื่องดื่มทั้ง 2 ประเภทมีโอกาสปรับลดลงขวดละ 1-3 บาท จากปัจจุบันที่มีขายในท้องตลาดขวดละ 20-30 บาท แต่สุดท้ายราคาจะลดลงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับแผนการตลาดของผู้ผลิตด้วย

ทั้งนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบมาตรการทางภาษีสรรพสามิตเพื่อเยียวยาช่วยเหลือชาวไร่ยาเส้น โดยมีการปรับลดการเก็บภาษีสรรพสามิตยาเส้นให้กับชาวไร่ หรือโรงงานขนาดเล็กที่มีการทำเอง หั่นเอง ขายเอง และมียอดผลิตไม่เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี ให้ลดการจัดเก็บภาษีจาก 10 สตางค์ต่อกรัม เหลือ 2.5 สตางค์ต่อกรัม ซึ่งจะช่วยให้ชาวไร่ และโรงผลิตยาเส้นขนาดเล็กซึ่งมีอยู่ถึง 30-40% ได้รับประโยชน์ สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่หันมาทำยาเส้นได้มากขึ้น โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกันยังมีมาตรการอำนวยความสะดวกให้ชาวไร่ผู้ปลูกใบยาเส้นและนำไปจำหน่ายตรงให้กับโรงงานในรูปแบบวัตถุดิบ ให้เสียภาษีในอัตรา 0% ซึ่งแต่เดิมชาวไร่ได้รับการยกเว้นภาษีการขายใบยาเส้นเป็นวัตถุดิบให้โรงงานอยู่แล้ว แต่ในขั้นตอนปฏิบัติมีความยุ่งยากทำให้บางส่วนเลือกเสียภาษีแทน เพราะแต่ก่อนอัตราภาษีไม่สูงมากนัก แต่ปัจจุบันภาษีเมื่อมีการขึ้นภาษีทำให้ชาวไร่เริ่มได้รับผลกระทบ กรมสรรพสามิตจึงมีการเสนอให้ปรับปรุงเงื่อนไขให้สะดวกยิ่งขึ้นเพื่อให้เกษตรกรได้รับการยกเว้น เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายแก่ชาวไร่ซึ่งเริ่มใช้ต้นปีหน้าเช่นกัน

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า กรมสรรพสามิตยังยืนยันว่าในวันที่ 1 ต.ค. 2562 นี้ จะมีการปรับภาษีความหวานเพิ่มขึ้นอีกรอบ หากผู้ผลิตยังไม่สามารถลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มได้ จะต้องเสียภาษีอีกเท่าตัว โดยอัตราภาษีความหวาน ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2562 ถึง 30 ก.ย. 2564 มีดังนี้ เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เก็บภาษีเท่าเดิมที่ 0.30 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตรจากเดิม เสียภาษี 0.50 บาทต่อลิตร, เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม แต่ไม่เกิน 18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร จากเดิม 1 บาท และ ที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร และจะมีการปรับภาษีแบบขั้นบันไดแบบเท่าตัวอีกครั้งในช่วง 1 ต.ค. 2564-30 ก.ย. 2566 เป็นต้นไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน