คลังจ่อปรับจีดีพีปี’62 ใหม่ หลังเศรษฐกิจโลกชะลอกระทบส่งออกหนัก 8 เดือนติดลบ 2.2% พ่วงใช้จ่าย-ลงทุนเอกชนดิ่ง – ฟุ้งท่องเที่ยวคึก เดือนส.ค. ต่างชาติแห่เที่ยวไทยทะลัก ดันยอดโตสูงสุดรอบ 8 เดือน

คลังจ่อหั่นจีดีพีปี’62 – นายวุฒิพงศ์ จิตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค. 2562 ว่าในเดือนต.ค. นี้ สศค. จะมีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2562 ใหม่ จากปัจจุบันประเมินว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ระดับ 3% และภาพรวมการส่งออกขยายตัว -0.9% โดยยังมีปัจจัยหลายส่วนที่ต้องนำมาพิจารณา ทั้งผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอข้อมูลการประเมินความเสียหายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

รวมถึงผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการส่งออก ซึ่งจากข้อมูล 8 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการส่งออกของไทยขยายตัว -2.2% ดังนั้น หากต้องการให้ตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้ตามคาดการณ์ ช่วงที่เหลือของปีนี้ มูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนจะต้องไม่เติบโตติดลบ

“สศค. ยังมองว่าภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ที่การส่งออกมีการขยายตัวติดลบค่อนข้างมาก และภาพรวมการส่งออกในเดือนส.ค. 2562 พบว่า ขยายตัว -4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการชะลอตัวของสินค้าส่งออกในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และหมวดยานยนต์ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐชะลอตัวอยู่ที่ -14.6% ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนส.ค. ที่ผ่านมา เกินดุลที่มูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ” นายวุฒิพงศ์ กล่าว

นายวุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า ในด้านการใช้จ่ายมีสัญญาณชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ด้านการผลิต พบว่ามีการปรับตัวดีขึ้น ในภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่กลับมาขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย อยู่ที่ 3.47 ล้านคน ขยายตัว 7.4% โดยนักท่องเที่ยวจีนขยายตัวในอัตราเร่งถึง 18.9% ต่อปี เช่นเดียวกันกับนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ขยายตัวถึง 32.4% ต่อปี ส่วนนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ นักท่องเที่ยวชาวลาว ญี่ปุ่น และมาเลเซีย สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมูลค่ารวม 1.69 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.2% ต่อปี

ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัว -9.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัว -9.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และการลงทุนในหมวดก่อสร้างส่งสัญญาณชะลอตัว สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว -9.2%

อย่างไรก็ดี ในส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 0.5% ต่อปี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0.4% ต่อปี อัตราการว่างงานที่ 1% ของกำลังแรงงาน โดย สศค. จะติดตามสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน