เอกชนเผย ดัชนีความเชื่อมั่นโมเดิร์นเทรด ไตรมาส 3 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ไตรมาส ผลจากปัจจัยลบรุมต่อเนื่อง แนะรัฐบาลลดข้อจำกัดในการใช้บริการมาตรการชิมช้อปใช้

ความเชื่อมั่นโมเดิร์นเทรดร่วง – นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด ไตรมาส 3 ปี 2562 ว่า จากกลุ่มผู้ประกอบการ 92 ตัวอย่าง มีความเห็นว่า ปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อธุรกิจโมเดิร์นเทรด คือ สถานการณ์ภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้งและน้ำท่วมหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 การส่งออกมีสัญญาณการหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อีกทั้งปัญหาสงความการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ที่ยังไม่มีข้อยุติ ปัญหาขัดแย้งของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสถานการณ์การประท้วงในฮ่องกง การท่องเที่ยวชะลอตัว เนื่องจากอยู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว และอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรยังคงอยู่ในระดับไม่สูง ส่งผลต่อระดับรายได้ของครัวเรือน การแข่งขันของธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ ภาระหนี้สินของครัวเรือน และสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้การบริโภคยังไม่มีการขยายตัว

ส่งผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด ไตรมาส 3 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.0 ซึ่งเป็นดัชนีต่ำสุดในรอบ 5 ไตรมาส แต่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 51.4 และเชื่อว่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ และเห็นว่าธุรกิจประสบกับปัญหามาตรการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมและรายได้ของธุรกิจ รวมทั้งขาดข้อมูลนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ของภาครัฐ ในปัจจุบันและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับโมเดิร์นเทรด

อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์พยากรณ์ฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3 ไปแล้ว และจะปรับตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 4 จึงมองว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัว 3.1% และตลอดปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัว 2.8% สอดคล้องกับการประเมินของที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

ส่วนปัจจัยบวกความเชื่อมั่นประกอบการ Modern Trade ไตรมาส 3 ว่า การจัดตั้งรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้น โดยมีการแถลงนโยบายของรัฐบาลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาท มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง มาตรการลดค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิม ช้อป ใช้” โดยให้สิทธิ์การใช้จ่ายวงเงิน 1,000 บาท และการรับเงินคืน (Cash Back) ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยให้เป็นจำนวนเท่ากับ 15% ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน เทศกาลอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนการ ขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า Visa On Arrival (VOA)

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ การลดข้อจำกัดในการใช้บริการมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ เช่น การเพิ่มร้านค้ารายย่อยให้ครอบคลุมและเพียงพอ รวมทั้งเพิ่มแอปเป๋าตังทุกแคชเชียร์ นอกจากนี้ ยังอยากให้รัฐบาลเพิ่มการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกระจายให้กับทุกโมเดิร์นเทรด แบบเท่าเทียมกันเพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อของภาคครัวเรือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน