สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยคงเป้าส่งออกปีนี้ติดลบ 1.5% ถอดใจหมดลุ้นโค้งสุดท้ายแรงส่งแผ่ว – ปีหน้าก็ยังสาหัสส่อโตแค่ 0%

ส่งออกปีนี้ติดลบ 1.5% – น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยปี 2562 หดตัว 1.5% บนสมมติฐานค่าเงินบาทปีนี้อยู่ที่ 32.50-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีแรงส่งจากการที่สหรัฐเร่งนำเข้าสินค้าจากไทยก่อนทางการจะพิจารณากำหนดระยะเวลาตัดสิทธิ์พิเศษทางด้านภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ เทศกาลตรุษจีนที่มาค่อนข้างเร็วในช่วงเดือนม.ค. 2563 ทำให้คาดว่าจะมีการส่งมอบสินค้าเร็วขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้การส่งออกปีนี้ติดลบน้อยลงจากที่คาดไว้หดตัว 1.5% เห็นได้จากภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2562) มีมูลค่ารวม 186,572 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 2.1% คิดเป็นมูลค่าในรูปของเงินบาท 5,832,709 ล้านบาท หดตัว 4.1%

ขณะที่การนำเข้า 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2562) มีมูลค่า 179,191 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.7% คิดเป็น 5,684,734 ล้านบาท หดตัว 5.6% ส่งผลให้ 9 เดือนของปีนี้ไทยเกินดุลการค้า 7,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 147,975 ล้านบาท

สำหรับปี 2563 คาดการส่งออกเติบโต 0-1% บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยบวกอยู่บ้างจากการหาพันธมิตรการค้าใหม่ผ่านการเจรจาความตกลงการเค้าเสรีตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) นักลงทุนฮ่องกงและไต้หวันเริ่มหาพื้นที่กระจายความเสี่ยงทำการค้าการลงทุนหลังเกิดเหตุความไม่สงบในช่วงที่ผ่านมา และสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เห็นพ้องกันขยายเวลาถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากอียูชัดเจนขึ้นเป็นวันที่ 31 ม.ค. 2563 จาก 31 ต.ค. 2562

“การส่งออกปี 2563 หากสถานการณ์แย่สุดคาดว่าจะโตได้ 0% แต่ไม่เกิน 1% เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่องจากการเกินดุลสะพัดของไทยคิดเป็นสัดส่วน 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ถือเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั้งยังมีแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัว ซึ่งภาคเอกชนหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป”

น.ส.กัณญภัค กล่าวอีกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่องจากการตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีระหว่างจีน-สหรัฐ และขยายออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป 4 ประเทศ ยังคงต้องเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด อีกทั้งกรณีสหรัฐตัดสิทธิ์จีเอสพีไทยครอบคลุมสินค้า 573 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1,391 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 4.1% ของมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.5% ของการส่งออกรวมของไทย ทำให้ไทยมีต้นทุนในการเสียภาษีตามอัตราปกติ 4.5% คิดเป็นมูลค่าประมาณไม่เกิน 1,800 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน