‘บอดี้ช็อป-เทสโก้โลตัส’ สนซื้อน้ำมันปาล์มไทย เอกชนวอนรัฐดันมาตรฐานสู่ความยั่งยืนแนะประกันรายได้แค่ยาแรงช่วงสั้น

‘บอดี้ช็อป-เทสโก้โลตัส’สนปาล์มไทย – นายธิตินัย พงศ์พิริยะกิจ หัวหน้าทีมที่ปรึกษาการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (GIZ) เปิดเผยว่า ไทยเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันเป็นอันดับ 3 ของโลก ประมาณ 3 ล้านตัน รองจากอินโดนีเซียประมาณ 40 ล้านตัน และมาเลเซีย ประมาณ 20 ล้านตัน ทั้ง 3 ประเทศรวมกันมีผลผลิตรวมประมาณ 90% ของผลผลิตทั่วโลก แต่ระยะหลังยุโรปกลุ่มประเทศผู้บริโภคใหญ่ของโลก ลดประมารการใช้ปาล์มน้ำมัน เพราะมีกลุ่มเอ็นจีโอของโลกออกมารณรงค์ถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมของการปลูกปาล์มน้ำมัน

ดังนั้น เมื่อประมาณปี 2555 GIZ ได้ร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รับรองมาตรฐานน้ำมันปาล์มเพื่อความยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil-RSPO) โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน อาทิ เกษตรกรต้องมีรายได้ดี ต้นทุนที่ลดลง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน เป็นต้น ส่งผลให้ชาวสวนปาล์มของไทยได้รับรองมาตรฐาน RSPO จำนวน 4 กลุ่ม ซึ่งเป็น 4 กลุ่มของโลก เป็นต้นแบบของการพัฒนาปาล์มน้ำมัน สู่เกษตรกรรายย่อยอื่น ทั้งในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย

“เมื่อไทยได้รับมาตรฐาน RSPO ส่งผลให้ผู้ผลิตจากทั่วโลกติดต่อเข้าซื้อปาล์มน้ำมันจากไทย อาทิ บอดี้ช็อปติดต่อซื้อเพื่อไปทำเครื่องสำอาง เทสโก้โลตัสก็ขยายกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มที่มีมาตรฐาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แม้ไทยไม่ใช่เป้าหมายในการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ไทยติดอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ แม้จะห่างจากอันดับ 1 และ 2 อยู่มาก GIZ จึงประสานไปยัง กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร เพื่อผลักดันให้เกษตรกรไทยปลูกปาล์มภายใต้มาตรฐานที่ผู้บริโภคต้องการ และจะทำให้ราคาปาล์มน้ำมันที่ได้รับรอง RSPO ขายได้ราคาสูงกว่าเกษตรกรทั่วไป”

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ กรรมการ บริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด กล่าวว่า ราคาปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ของไทย มีราคาสูงกว่า ประเทศอื่นๆ ทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประมาณ 2 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) เนื่องจากไทย มีการส่งออกน้ำมันปาล์มได้ แต่ไม่สามารถนำเข้าได้ เมื่อผลผลิตทั่วโลกน้อย ราคาจะสูง จะมีการผลักดันให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการในประเทศ ไม่ต้องการให้มีการส่งออก เพราะกังวลว่าหากผลผลิตขาดตลาด จะไม่มีวัตถุดิบในการผลิตสินค้า จึงยอมซื้อปาล์มเก็บไว้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มของไทยราคาสูงกว่าประเทศอื่นๆ

ภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการดูแลอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน คือ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน และยังมีคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ภาครัฐยังไม่เข้าใจระบบ ไม่เข้าใจกลไกของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน การช่วยเหลืออุตสาหกรรมปาล์มไม่จำเป็นต้องใช้เงิน ภาครัฐเพียงแค่ยื่นมือมาอำนวยความสะดวก ในการผลักดันมาตรฐานผลผลิต มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนที่ทั่วโลกกำลังสนใจ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเกษตร ช่วยลดต้นทุน อาทิ ราคาปุ๋ยให้กับเกษตรกรชาวสวน ก็จะทำให้ผลผลิตที่เกษตรกรขายได้ในราคาสูง เกษตรกรจะมีรายได้เข้ากระเป๋ามากขึ้น

“ปัจจุบันรัฐบาลทำแค่เพียงดูแลเรื่องของราคา และบริหารผลผลิต หากมีการผลักดันมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร มีการพัฒนาผลผลิตให้ดี ผลผลิตต่อไร่สูง ลดการใช้สารเคมีลง ราคาที่เกษตรกรขายได้จะเป็นราคาที่ผู้ซื้อยินดีซื้อในราคาพรีเมียม และเมื่อมีมาตรฐานเพื่อความยั่งยืนแล้ว รัฐบาลไม่จำเป็นต้อนประกันรายได้ ซื้อจำนำ เพราะการประกันรายได้ ทำให้เป้าหมายที่เกษตรกรต้องพัฒนาผลผลิตเป็นไปไม่ได้ เป็นยาแรงในช่วงสั้นที่ทำตลอดไปไม่ได้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน