สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ระบุ แบน 3 สารเคมีเกษตร ปีหน้าไทยจะเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท เฉพาะอุตสาหกรรมน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล กว่า 1.5 แสนล้าน จี้รัฐถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนนโยบายด่วน ขณะเกษตรกรลงขันคนละ 1 บาท ฟ้องศาล หลัง 1 ธ.ค. นี้

ชี้แบนพาราควอตสูญรายได้5แสนล. – นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอันดับที่ 5 และส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 2 ของโลก มีพื้นที่ปลูก 11 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 134 ล้านตันต่อปี เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตน้ำตาลทราย และผลพลอยได้จากกากน้ำตาล กากชานอ้อย กากตะกอน นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูป อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ผลิตเอทานอล ผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมทั้งเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และเคมี

การแบนสารเคมีเกษตร โดยเฉพาะ พาราควอต ได้ประมาณการณ์ผลกระทบเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2563 ทั้งในระดับเกษตรกร อุตสาหกรรมแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตร และการส่งออก โดยคาดว่าผลผลิตอ้อยจะลดลง 20-50% ถ้าไม่ใช้สารพาราควอตในช่วงอ้อยย่างปล้อง จะทำให้อ้อยหายไปถึง 67 ล้านตันต่อปี เกษตรกรสูญเสียรายได้ไปกว่า 5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังส่วนใบและยอด ซึ่งใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล จะสูญหายไป 11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 7.4 พันล้านบาท รวมเกษตรกรสูญเสียทั้งสิ้น 5.8 หมื่นล้านบาท

ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ปริมาณน้ำตาลทรายดิบจะหายไปประมาณ 6.7 ล้านตันต่อปี คิดเป็นรายได้ประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท รวมทั้งกากน้ำตาลจะหายไป 3.3 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ 1 หมื่นล้านบาท สร้างความเสียหายต่อการผลิตเอทานอลประมาณ 8.4 ร้อยล้านลิตร คิดเป็นรายได้ 1.8 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน กากชานอ้อย วัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าชีวมวล จะหายไปไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตัน สูญรายได้ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายเข้าสู่ระบบอย่างน้อย 67.4 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำทั้งปีจาก 2 เขื่อนใหญ่ ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนจุฬาภรณ์ หรือเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างน้อย 6 เดือน คิดเป็นรายได้ที่หายไป อัตรา 2.7 บาทต่อหน่วย ประมาณ 182 ล้านบาท รวมภาคอุตสาหกรรมและที่เกี่ยวเนื่องสูญเสียทั้งสิ้น 9.2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังกระทบต่อการส่งออกน้ำตาล ที่อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกถึง 75% ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมด ส่วนที่เหลือใช้ในประเทศ ปริมาณส่งออกประมาณ 10-11 ล้านตันต่อปี เหตุที่ไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ดี เพราะต้นทุนอ้อยในการผลิตน้ำตาลของไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก มีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งเรื่องระยะทางและต้นทุนขนส่งต่ำกว่า

แต่ปัจจุบันเกิดวิกฤตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เนื่องจากราคาอ้อยตกต่ำมาก ทำให้ภาครัฐต้องช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในเรื่องต้นทุนในส่วนของปัจจัยการผลิต ได้แก่ สารกำจัดวัชพืช ปุ๋ย เครื่องจักรตัดอ้อย ซึ่งเป็นแนวทางเดียวที่รัฐจะช่วยได้โดยไม่ขัดกับข้อตกลงองค์กรการค้าโลก (WTO) ที่กำหนดห้ามสนับสนุนเงินช่วยเหลือ

ดังนั้น จึงอยากให้รัฐพิจารณาใหม่อีกครั้ง และต้องเร่งจัดการปัญหาโดยด่วน อาจจะยืดระยะเวลาแบนออกไป เพื่อไม่ให้กระทบกับ ฤดูการปลูกอ้อยต่อไป โดยรัฐควรหารือ กับภาคอุตสาหกรรมเกษตรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยเร็ว เพราะหากรวมมูลค่าความเสียหายจากพืชอื่นๆ 5 ชนิด คือ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และผลไม้ จะมีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท

นายรังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศที่ใช้แนวทางปฏิบัติการอนุญาตใช้สารเคมีเกษตรขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น ยังใช้ พาราควอต ในพืชต่างๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย ชา กาแฟ มั่นฝรั่ง สัปปะรด พืชผักผลไม้ พืชตระกูลถั่ว พืชตระกูลเบอร์รี่ โดยผลิตผลทางการเกษตรเหล่านี้ ก็นำเข้ามาบริโภคในประเทศไทย

ดังนั้น การยกเลิกใช้ พาราควอต จึงไม่ใช่ทางออกของภาคเกษตรกรรมและผู้บริโภคไทย และปัจจุบันยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ด้านการตกค้างในสิ่งแวดล้อมจนเป็นอันตรายต่อเกษตรกรและสิ่งมีชีวิตในดินและน้ำ ในขณะที่สิ่งทดแทนพาราควอต ทั้งสารเคมี 16 ชนิดและวิธีการกำจัดหญ้า ทั้งแรงงานคน เครื่องจักร ตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร ไม่สามารถใช้ในพื้นที่โคนต้น เนิน ดินแฉะ หรือพื้นที่เกษตรที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้เครื่องจักร

ส่วนสารทดแทน 16 ชนิด ไม่สามารถนำมาเป็นทางเลือกหรือทดแทน พาราควอต ได้ เพราะคุณสมบัติของสารแต่ละชนิดมีผลต่อพืชเศรษฐกิจต่างกัน บางชนิดไม่สามารถฆ่าวัชพืชบางชนิดได้ บางชนิดหากใช้เป็นพิษต่อพืชปลูก บางชนิดปนเปื้อนน้ำบาดาลได้ บางชนิดใช้สภาพอากาศฝนตกชุกไม่ได้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ยืนยันประเด็นด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับพาราควอต ว่า สังคมน่าจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเนื้อเน่าเพิ่มมากขึ้นแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับพาราควอต แต่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งรายงานผลการตรวจพบพาราควอตในเลือดของหญิงใกล้คลอดและเลือดสายสะดือทารก ขาดข้อมูลที่ชัดเจนถึงการได้รับสารเคมีเกษตรกรและความผิดปกติ สอดคล้องกับรายงานทางการแพทย์จากอดีตถึงปัจจุบันยังไม่พบการเกิดพิษจากพาราควอตในกลุ่มผู้ใช้เลย นอกจากนำไปดื่มกินเพื่อฆ่าตัวตาย

ที่สำคัญมีรายงานล่าสุดจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา หรือ US EPA ระบุว่า “พาราควอต” ไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ไม่มีความเชื่อมโยงกับโรคพาร์กินสัน รวมทั้งข้อมูลที่กล่าวอ้างเรื่องการปนเปื้อน การตกค้างของพาราควอตไม่ชัดเจน ไม่มีนัยสำคัญทางพิษวิทยา อย่างไรก็ตาม การอบรมให้ความรู้และการปฏิบัติตนที่ถูกต้องในการใช้สารเคมีเกษตรของผู้ซื้อและใช้ เป็นสิ่งที่ดีและภาครัฐควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะสารเคมีเกษตร จำเป็นต่อกสิกรรมของไทย

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำหนังสือเพื่อขอรับบริจาคจากเกษตรกรที่ได้รับเงินคนละ 1 บาทจำนวน 1 ล้านคน เพื่อนำเงินไปฟ้องศาลปกครองกรณีได้รับผลกระทบจากการแบน 3 สารเคมี หลังจากวันที่ 1 ธ.ค. 2562 ที่มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ เกษตรกรจะนำสารเคมีที่มีหลายหมื่นลิตร ไปคืน 3 กระทรวงหลักที่มีส่วนออกมติ ให้แบน ทั้งนี้ ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่มีความเป็นไปได้ที่แกลลอนบรรจุอาจจะรั่ว และเจ้าหน้าที่ก็ต้องล้างกันเอาเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน