ไทยโชว์โมเดลเศรษฐกิจเวทีญี่ปุ่น

ส่องทิศทางพัฒนาโลก15ปีข้างหน้า

ไทยโชว์โมเดลเศรษฐกิจ : นานาประเทศพยายามตอบโจทย์ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติหรือ SDGs ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาของโลกในอีก 15 ปีข้างหน้าตั้งแต่ปีค..2015-2030 หรือปี 2558-2573

ส่วนของไทยดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรืออว. พร้อมด้วยดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผอ.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. และคณะจึงร่วมประชุมในเวทีนานาชาติด้านนโยบายด้านวิทยา ศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมประจำปี 2562 หรือ STS Forum 2019 ที่นคร เกียวโต เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น

ไทยโชว์โมเดลเศรษฐกิจ

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

เพื่อเน้นย้ำบีซีจี อีโคโนมีหรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะตอบโจทย์ความยั่งยืนของสหประชาชาติ

ดร.สุวิทย์กล่าวว่า บรรยากาศเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแสดงวิสัยทัศน์ดีมาก และได้ความรู้ เพราะผู้จัดระดมสมองจากฝ่ายบริหารระดับรัฐมนตรี นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย มาร่วมกันแก้โจทย์ว่าจะใช้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแก้ปัญหาระดับโลกที่นานาชาติต่างเผชิญร่วมกันอย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะทะเล สังคมสูงวัย ปัญหาฝุ่นจิ๋วหรือพีเอ็ม 2.5

แต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาไม่เท่ากัน จึงต้องสร้าง เครือข่ายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศที่ก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่ความร่วมมือแบบต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์แบบยั่งยืน

สอดคล้องกับแนวคิดใหม่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ชูความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นหนึ่งในความร่วมมือใน 4 เสาหลัก นอกเหนือ จากมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย เอกชน

ภายในงานดร.สุวิทย์ ฟังวิสัยทัศน์ และนโยบาย จากผู้ขึ้นอภิปรายในงานหลายท่าน ที่น่าสนใจ

เช่น นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออนาคตของมนุษยชาติ พบว่าไทยและญี่ปุ่นต่างประสบปัญหาขยะไมโครพลาสติกร่วมกัน

ไทยโชว์โมเดลเศรษฐกิจ

นายชินโซ อาเบะ

นายอาเบะเริ่มพูดถึงขยะไมโครพลาสติกในมหาสมุทร ซึ่งญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ จากการที่สภาพภูมิประเทศ เป็นเกาะล้อมรอบด้วยทะเลทุกด้าน ซึ่งสอดคล้องกับไทยที่มีชายฝั่งติดทะเล สองด้าน ต่างเจอปัญหาไมโครพลาสติก ในทะเลร่วมกัน

เช่น ไทยเจอไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทู จึงอยู่ระหว่างพิจารณา ว่าจะร่วมมือหรือเชื่อมโยงกับญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไมโครพลาสติกอย่างไร

เน้นการบริหารจัดการที่ดี กล่าวคือรู้จักจัดการให้เป็น ยกตัวอย่างพลาสติกมีประโยชน์แต่กลายเป็นปัญหาขยะในทะเลเพราะการจัดการไม่ดี

นายอาเบะจึงประกาศข้อริเริ่มใหม่ ชื่อมารีน’ (MARINE) มาจากคำว่า Management-การจัดการ, Recovery-การกู้คืนสภาพของขยะทะเลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่, Innovation-นวัตกรรม และ Empowerment-การเพิ่มอำนาจ เป็นโครงการที่ญี่ปุ่นจะแบ่งปันความรู้ กระบวนการบริหารจัดการขยะ นวัตกรรมให้ประเทศกำลังพัฒนา

ดร.สุวิทย์กล่าวอีกว่า ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นอย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาขยะของไทยและอาเซียนทั้งระบบ จากส่วนนี้จะได้กลับมาสำรวจงานวิจัยไทยที่สอดคล้องกับโครงการดังกล่าว รวมทั้งร่วมมือกับญี่ปุ่นในการจัดการไมโครพลาสติก

พร้อมกันนี้ญี่ปุ่นใช้โอกาสในฐานะเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิก 2020’ แสดงถึงบทบาทของญี่ปุ่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อโลกและประชาชน

นายฮิโรชิ โคมิยามะ ประธานสถาบันวิจัยมิตซูบิชิ ระบุว่า ญี่ปุ่นนำขยะ วัสดุเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ เช่น เหรียญรางวัลสร้างจากโทรศัพท์มือถือเก่า การวางแผนระยะยาวก่อนการก่อสร้างเพื่อนำเอาวัสดุที่ใช้ในงานโอลิมปิกกลับไปใช้ตามเมืองต่างๆ

การรักษาธรรมชาติลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเชื่อมโยงนวัตกรรมและแนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ากับชีวิตของประชาชน

นอกจากนี้ ดร.สุวิทย์ยังเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีญี่ปุ่น ไต้หวัน อิสราเอล สวีเดน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป หรืออียู รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลอีก 13 คน

ในที่ประชุม ดร.สุวิทย์แสดงวิสัยทัศน์เน้นบีซีจี อีโคโนมี โมเดลเศรษฐกิจที่ พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ทุกกระทรวงนำโมเดลไปคิดเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ไทยจึงค่อยๆ ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าบีซีจีจะเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศที่สร้างมูลค่า 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมจ้างงาน 16.58 ล้านคน ในประเทศใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบัน 3.4 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 21

นอกจากความพยายามนำโมเดลบีซีจีไปปฏิบัติผ่านเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ ยังใช้โอกาสที่จะเปิดความร่วมมือกับนานาชาติโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างอุตสาหกรรมบนฐานความรู้ด้านเซลล์บำบัด

ดร.สุวิทย์นำคณะเยี่ยมชมบริษัท ทาการะไบโอ บริษัทชั้นนำเชี่ยวชาญยีนบำบัดของญี่ปุ่น ผ่านทางการประสานงานจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์หวังดึงดูดให้มาลงทุนในไทย

ทาการะไบโอ มีทักษะความเชี่ยวชาญที่ไทยต้องการ ได้แก่ การวิจัย การผลิตสินค้าเซลล์และยีนและการบริหารจัดการช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นการใช้เทคโนโลยีการแพทย์แม่นยำ

เช่น หาลำดับดีเอ็นเอของคนไทยเพื่อป้องกันโรคร้าย ซึ่งเป็นทักษะที่ไทยมีโอกาสเรียนรู้และรับเทคโนโลยีจากบริษัทนี้ได้ ตั้งแต่ผ่านการร่วมวิจัยหรือการร่วมการลงทุนผลิต

ฝ่ายไทยชูจุดแข็งจากการที่ไทยมีจุดยืนในนโยบายด้านการเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพในภูมิภาค อย่างย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ซึ่งวางเป้าหมายให้เป็นศูนย์รวมการแพทย์สมัยใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนโยธี เขตราชเทวี

ไทยโชว์โมเดลเศรษฐกิจ

ฝ่ายไทยหารือกับสวีเดน

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลและสถาบันวิจัยจำนวน 29 แห่ง รัฐบาลมีเสถียรภาพ รวมทั้งโครงการการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีของไทย โดยมี EECi ซึ่งเป็นพื้นที่ผสานเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการผลิตและบริการ ตลอดจนแรงจูงใจทางภาษีสำหรับบริษัทที่มาลงทุนและวิจัยในพื้นที่

ส่วนดร.นเรศ ดำรงชัย ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ให้ข้อมูลว่าได้มีความร่วมมือระดับหน่วยงานกับสมาคมอุตสาหกรรมยาญี่ปุ่นมาแล้วกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนพัฒนาบุคลากร

จึงจะจัดให้เจรจาหารือสร้างความร่วมมือในงานวิจัยและพัฒนา สู่อุตสาหกรรมและการให้บริการทางการแพทย์ใน อนาคต

ทั้งหมดนั้นคือบทบาทและความสำคัญที่ไทยคำนึงถึง และนำมาพัฒนาอย่าง ต่อเนื่องและยั่งยืน

สุจิตรา ธนะเศวตร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน