นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากการที่เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (ดับเบิลยูอีเอฟ) จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวประจำปี 2560 ปรากฎว่าในหมวดการขนส่งทางบกและท่าเรือ ไทย มีคะแนน 3.1 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอยู่ที่ 3.5 และเป็นรองคู่แข่งชั้นนำในภูมิภาคทั้ง สิงคโปร์ ในอันดับ 1 ที่ได้คะแนน 6.1 มากกว่าไทยเท่าตัว และมาเลเซีย มีคะแนน 4.4 นั้น ยอมรับว่าขณะนี้ ไทยยังอยู่ในช่วงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการวางแผนระบบรางเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ทำให้ต้องใช้เวลาในการปรับอันดับในปีต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงท่องเที่ยวฯ เริ่มบูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคมมากขึ้น มีการจัดตั้งคณะกรรมการปรับปรุงความสะดวกในการเดินทาง (Ease of Traveling) ที่มีตัวแทนจากหน่วยงานในสังกัดคมนาคมเป็นองค์ประกอบ เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพการเติบโตเชิงปริมาณนักท่องเที่ยวในอนาคต และนำไปสู่การวางแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สอดรับกันแล้ว

ด้านนายพงษ์ภาณุ เศวตรุณทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การประสานงานร่วมกับคมนาคม มีการวิเคราะห์และคาดการณ์ถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยในระยะ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคน หรือเติบโตราว 1 เท่าตัวเทียบกับปัจจุบัน และทำให้ผู้พัฒนาระบบขนส่งนำตัวเลขดังกล่าวไปเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการพัฒนาโครงสร้างระยะยาวให้สอดรับกับนักท่องเที่ยว แต่เชื่อว่าด้วยอันดับที่ยังต่ำในภูมิภาคขณะนี้ หากการขนส่งระบบรางเริ่มเป็นรูปธรรมใช้งานได้ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันและการรองรับของไทยทยอยปรับสูงขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นไป

จากการเปิดเผยของ ดับเบิลยูอีเอฟ พบว่า คะแนนขีดความสามารถการขนส่งทางบกและท่าเรือของไทยนั้น อยู่ในระดับ 3.1 เท่ากับเวียดนาม และนอกจากต่ำกว่าสิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว ยังเป็นรองอินโดนีเซีย ที่ได้ 3.2 คะแนน และประเทศในเอเชียใต้อย่างศรีลังกา ที่ได้ 3.9 คะแนนด้วย ซึ่งหากเทียบกับอันดับโลก ไทยรั้งอันดับที่ 72 และเมื่อเจาะลึกในรายละเอียดของประเภทโครงสร้างการขนส่งทางบกที่อยู่ในอันดับต่ำที่สุด ได้แก่ คุณภาพของระบบราง ที่อยู่อันดับ 74 ของโลก คิดเป็นคะแนนเพีย 2.5 เท่านั้น

ส่วนขีดความสามารถด้านโครงสร้างขนส่งทางอากาศ มีอันดับสูงที่ 20 ของโลก หรือเฉลี่ย 4.6 คะแนน แต่จุดอ่อนที่ยังอยู่ในอันดับต่ำที่สุดที่ 67 ของโลก คือ ด้านความหนาแน่นของสนามบิน

ขณะที่ขีดความสามารถอื่นๆ ของไทยที่จัดอยู่ในอันดับต่ำกว่า 100 เมื่อเทียบกับทั่วโลก ได้แก่ ความปลอดภัยและมั่นคง ที่ได้อันดับ 118, ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อันดับ 122 ส่วนขีดความสามารถด้านอื่นๆ ได้แก่ สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจ ซึ่งอยู่อันดับ 45 ของโลก, สุขภาพและสุขอนามัย ได้อันดับ 90, ทรัพยากรมนุษย์และตลาดแรงงาน อันดับ 40, ความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อันดับ 58, การให้ความสำคัญกับการเดินทางและท่องเที่ยว อันดับ 34, การเปิดกว้างต่อต่างประเทศ อันดับ 52, การแข่งขันด้านราคา อันดับ 18, โครงสร้างบริการท่องเที่ยว อันดับ 16, ทรัพยากรธรรมชาติ อันดับ 7 แหล่งวัฒนธรรมและการเดินทางเชิงธุรกิจ อันดับ 37

สำหรับการเตรียมจัดงานเวิลด์ ทราเวล ทัวริสซึ่ม เคาน์ซิล (ดับเบิลยูทีทีซี) โกลบอล ซัมมิท ระหว่างวันที่ 25-27 เม.ย.นี้ กระทรวงฯ ได้รับการตอบรับจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นองค์ปาฐก เพื่อแสดงความมั่นใจต่อผู้บริหารระดับสูงด้านท่องเที่ยวกว่า 750 คน ที่จะเดินทางมาว่าไทยพร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและต้อนรับการลงทุนด้วย

นอกจากนี้ ไทยจะนำข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนในไทย (BOI) เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และสิทธิพิเศษของโครงการสมาชิกบัตรไทยแลนด์อีลิท เป็นไฮไลต์ในการนำเสนอระหว่างประชุมครั้งนี้








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน