โลว์คอสต์ขอลดภาษีน้ำมันแต่ไม่ลดค่าตั๋ว สรรพสามิตไล่บี้ทำแผนให้จบใน 2 สัปดาห์ก่อนมาคุยกันใหม่ ย้ำต้องกระตุ้นท่องเที่ยวเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์เชิงสาธารณะ

โลว์คอสต์ขอลดภาษีน้ำมัน – นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ได้เรียกผู้บริหารสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) รวม 7 แห่ง และผู้ประกอบการน้ำมัน 5 แห่ง มาหารือผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน เจ็ตเอ 1 ที่ปรับขึ้นจาก 0.20 บาทต่อลิตร เป็น 4.70 บาทต่อลิตร ในปี 2560 โดยผู้ประกอบการชี้แจงว่า อยากให้ปรับลดภาษี เพราะได้รับผลกระทบอย่างมาก มีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้น 20 เท่า จึงสั่งให้ผู้ประกอบการไปทำแผนมาเสนอภายใน 2 สัปดาห์ว่าถ้ามีการปรับลดภาษีให้ จะมีแผนช่วยภาคการท่องเที่ยว เป็นประโยชน์ในเชิงสาธารณอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร

“ขอความกรุณาผู้ประกอบการโลว์คอสต์ ไปวิเคราะห์ข้อมูล เตรียมตัวเลขมาให้ชัดเจนถ้าต้องลดภาษี จะเกิดประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยว และต้องเป็นแนวทางที่จับต้องได้ เช่น จะเพิ่มเที่ยวบินไปยังจังหวัดเมืองรองเท่าไหร่ กระตุ้นการท่องเที่ยวได้อย่างไร ซึ่งจะต้องเชิญการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มาหารือด้วยครั้งหน้า” นายพชร กล่าว

ทั้งนี้ ถ้าผู้ประกอบการโลว์คอสต์บอกได้ว่าลดภาษีแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวอย่างไร ต้องเป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่การเอื้อต่อเอกชน กรมสามารถลดภาษีได้ ซึ่งปัจจุบันกรมเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบินที่ 3 พันล้านบาทต่อปี ไม่ได้เป็นวงเงินมากมาย แต่ก็ต้องมีข้อเสนอมายื่นหมูยื่นแมวด้วย ซึ่งหากข้อเสนอไม่เป็นรูปธรรม กรมก็ต้องปฏิเสธข้อเสนอขอลดภาษีน้ำมัน แม้ว่าผู้ประกอบการจะระบุว่า ปัจจุบันมีต้นทุนเชื้อเพลิง 30% และเริ่มมีผลกระทบต้องลดเที่ยวบินในเมืองหลัง เช่น เชียงใหม่ จาก 15 ไฟลต์ต่อวันเหลือ 10 ไฟลต์ ต่อวันก็ตาม

นายพชร กล่าวว่า ในส่วนของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ไทยสไมล์ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่จากการหารือ ทางการบินไทย ชี้แจงว่า ต้นทุนภาษีสรรพสามิตน้ำมันแค่ 5% เท่านั้น ไม่ได้มีผล กระทบมาก และไม่ได้ให้บริการเที่ยวบินในประเทศมากนัก ส่วนไทยสไมล์ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องภาษีสรรพสามิตน้ำมัน แต่เสนอว่าถ้ามีการปรับลด ก็ควรต้องได้ประโยชน์กับทุกสายการบิน

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ หรือ บางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า การลดภาษีจะช่วยในเรื่องของการท่องเที่ยวมาก โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจทีชะลอตัวในขณะนี้ ที่จำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในเมืองรอง ซึ่งแนวโน้มปัจจุบัน นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้มาประเทศไทย แต่ไปประเทศใกล้เคียงเพิ่มขึ้น เพราะไม่ได้ต้องการมาเที่ยวซ้ำ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดึงเมืองรองขึ้นมาให้มีการท่องเที่ยวใหม่ๆ และสายการบินก็จะเป็นตัวช่วยดึงนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี ไม่สามารถบอกได้ว่าหากมีการลดภาษีน้ำมันแล้วจะมีการลดค่าโดยสารหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน เส้นทางในประเทศ โดยเฉลี่ยไม่ได้มีการปรับราคาขึ้นเลย มีแต่จะลดลงด้วยซ้ำ ขณะที่การปรับลดภาษีควรพิจารณาถึงประโยชน์ที่ได้ มากกว่าการเทียบการเดินทางในโหมดอื่นๆ ปัจจุบันสายการบินโลว์คอสต์ที่บินเมืองรอง ก็รู้อยู่แล้วว่าต้องขาดทุนแน่นอน แต่ก็หวังว่าในอนาคตเส้นทางเมืองรองจะสร้างกำไรได้ การลดภาษีจึงเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการและกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน