‘อลงกรณ์’ย้ำไทยพร้อมผลักดันความร่วมมือกับ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) เพื่อยกระดับบทบาทไทยในเวทีโลก พัฒนาเกษตรกรไทยให้เข้มแข็ง และร่วมมือนานาชาติต่อต้านประมงไอยูยู เพื่อยกให้ไทยเป็นต้นแบบด้านการพัฒนาเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืนในภูมิภาคตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายพลพิศิลป์ สุวรรณชัย ผู้อำนวยการกองประมงต่างประเทศ นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ (FAO/IFAD/WFP) ณ กรุงโรม เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับ นายเดเนียล กุสตาฟสัน รองผู้อำนวยการใหญ่ เอฟเอโอ ณ สำนักงานใหญ่ กรุงโรม

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในด้านเกษตรและประมงเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารอันดับที่ 12 ของโลก ไทยได้พัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยผลักดันความร่วมมือในระดับภูมิภาค เสนอโครงการ”ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืนในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน” จัดทำนโยบายประมงอาเซียน และการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และการควบคุม (IUU)

ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ แจ้งให้ FAO ทราบถึงการขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนมุมมองการทำงานใหม่ โดยขับเคลื่อนนโยบายเกษตร 4.0 นำระบบข้อมูลเทคโนโลยีดิจิตอลมาสนับสนุนการผลิตภาคเกษตร เช่น โครงการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (AgriTech and Innovation Center) ใน 77 จังหวัด โดยเป็นการทำงานเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และสถาบันเกษตรกรในพื้นที่รวมทั้ง พัฒนาระบบอีคอมเมอร์ซเชื่อมโยงเกษตรกรกับตลาด

ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสําคัญในเรื่องการผลิตเกษตรอินทรีย์และอาหารที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยผลักดันให้มีการรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนการส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อร่วมกลุ่มของเกษตรกร และยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ให้ทำงานหรือบริหารจัดการธุรกิจร่วมกันเพื่อลดต้นการผลิต สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่าไทยสนับสนุนแนวคิดการจับคู่ของประเทศเพื่อการพัฒนา “Hand-in-Hand Initiative” ของผู้อำนวยการใหญ่ FAO คนใหม่ ที่ผ่านมา ไทยได้ขยายความร่วมมือในการพัฒนาด้านเกษตรกรรมและเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอื่นนอกอาเซียน ร่วมกับภาคเอกชนของไทย ทั้งนี้ประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุน FAO ในการดำเนินกิจกรรมโครงการในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค ไทยพร้อมให้ความร่วมมือและถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาภาคเกษตร และยกระดับไทยเป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการเกษตรและอาหารในระดับภูมิภาค

 

ด้านรองผู้อำนวยการใหญ่ เอฟเอ กล่าวชมเชยความสำเร็จของประเทศไทยในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และแสดงความยินดีที่ผู้แทนไทยที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) ขอบคุณรัฐบาลไทยที่สนับสนุนกิจกรรมของสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ FAO ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพ รวมทั้งบทบาทนำของไทยในเรื่องสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) การป้องกันปัญหาโรคระบาด และปัญหาเชื้อดื้อยาในภาคเกษตร ปศุสัตว์ และประมง

จากนั้นนายอลงกรณ์ นำคณะเข้าพบMr.Gilbert Houngbo ประธานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนบทบาทของไทย เป็นผู้ให้ หรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืน กับองค์กรระหว่างประเทศและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

นายอลงกรณ์ กล่าวว่าว่า IFAD เป็นหนึ่งในองค์กรของสหประชาชาติ ทำหน้าที่เปรียบเสมือนธนาคารเกษตรของโลก จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ช่วยเหลือประเทศสมาชิก ซึ่งมีอยู่ 176 ประเทศ พัฒนาและสนับสนุนการเชื่อมโยงภาคเกษตรกับภาคธุรกิจให้เกิดการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อสร้างความเข้มเข็งและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่เกษตรกร เยาวชน และสตรีในชนบท ซึ่งความช่วยเหลือส่วนใหญ่อยู่ในรูปของโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือความช่วยเหลือแบบให้เปล่า สำหรับการพัฒนาด้านวิชาการ ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี ด้านการเงินและการตลาด

ระหว่างการหารือ นายอลงกรณ์ กล่าวถึงนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล เพื่อมุ่งเน้นให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาการผลิตมากขึ้น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ ธกส. และธนาคารออมสิน จัดตั้งโครงการสินเชื่อประมงดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องและการฟื้นฟูอาชีพประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ และประมงนอกน่านน้ำ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ไทยสามารถให้ความช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ IFAD และประเทศสมาชิกได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน