นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) แบบเสรี ตามนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการให้ประชาชน ภาคครัวเรือน ภาคอาคารธุรกิจสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองและใช้เอง โดยหลังจากประกาศเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี ระยะนำร่องเมื่อช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมสมัครติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรี รวมทั้งสิ้น 788 ราย รวมกำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ และได้รับการพิจารณาอนุมัติโครงการแล้ว 358 ราย รวมกำลังการผลิต 32.75 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ตามประกาศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ประกาศให้ประชาชนได้ร่วมโครงการการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเสรี ระยะนำร่อง 100 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 50 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวง 50 เมกะวัตต์ โดยในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีผู้ติดตั้งทั้งสิ้น 129 ราย รวม 18.85 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นบ้านอยู่อาศัย 42 ราย กำลังผลิต 0.15 เมกะวัตต์ อาคาร 87 ราย กำลังผลิต 18.7 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวงมีผู้ติดตั้งทั้งสิ้น 229 ราย รวม 13.9 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นบ้านอยู่อาศัย 124 ราย กำลังผลิต 0.5 เมกะวัตต์ อาคาร 105 ราย กำลังผลิต 13.4 เมกะวัตต์

ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการติดตามประเมินผลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากโครงการผ่านการประเมิน คาดว่าในช่วงปลายปี 2560 นี้ จะสามารถเปิดโครงการในระยะที่ 2 ได้เพิ่มเติม และมีโอกาสที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะสามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้ ซึ่งจะจูงใจและขยายผลจากวัตถุประสงค์ของโครงการที่นอกจากจะช่วยให้กลุ่มบ้าน-อาคารธุรกิจ ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเสรีเพื่อใช้เองแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้จากการผลิตพลังงานทดแทนได้ รวมทั้งช่วยลดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจากระบบ (พีก) ช่วยให้ประเทศเกิดความมั่นคงด้านพลังงาน จากการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในระยะยาว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน