นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยระหว่างพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่มีปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดิน ปี 2559 ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บ.จ.ธ. และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า กระทรวงเกษตรฯกำลังเร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบหรือเกษตรกรที่เป็นหนี้ในระบบแต่เสียดอกเบี้ยสูง โดยใช้เงินช่วยเหลือของกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนของทางบ.จ.ธ. เบื้องต้นมีเกษตรกรที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (อชก.) ส่วนจังหวัด และ อชก.ส่วนอำเภอ จำนวน 809 ราย จำนวนเงิน 202.74 ล้านบาท

นอกจากนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ อชก.ส่วนกลาง จำนวน 330 ราย เป็นจำนวนเงินประมาณ 323.17 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 525.91 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเนื่องจาก กระทรวงเกษตรฯติดขัดปัญหาในเรื่องงบประมาณทำให้ยังไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ จึงได้ลงนามเอ็มโอยู เพื่อให้บ.จ.ธ. และธ.ก.ส. เข้ามาช่วยเหลือด้านเงินกู้แทน ซึ่งคาดว่า หลังจากลงนามแล้วภายใน 1 – 2 สัปดาห์ บจธ. และธ.ก.ส.จะสามารถอนุมัติเงินกู้ เพื่อนำร่องช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มแรกจำนวน 809 รายได้ก่อน หลังจากนั้นจะทยอยช่วยเหลือเกษตรกรในกลุ่มต่อๆไป

0123

“เกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบส่วนใหญ่ และต้องจ่ายดอกเบี้ย 3-4% ต่อเดือน โดยมักจะนำที่ดินไปค้ำประกันนายทุน หรือขายฝากที่ดินโดยโอนกรรมสิทธิ์ไปให้และจะซื้อคืนทีหลัง ซึ่งมีโอกาสสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินสูงมากเพราะดอกเบี้ยแพง และจ่ายไม่ไหว ทั้ง 3 หน่วยงานจึงเร่งช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องเสียสิทธิ์ในที่ดินทำกิน โดยให้การช่วยเหลือกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำประมาณ 3% ต่อปี รวมทั้งให้การช่วยเหลือในการฟื้นฟูรายได้โดยสนับสนุนการประกอบอาชีพอื่นๆ ซึ่งคุณสมบัติเบื้องต้นเกษตรกรที่เข้าร่วมจะต้องมียากจน มีภาระหนี้หนักที่เกิดจากผลผลิตเสียหายจากภัยธรรมชาติ หรือจากการประกอบอาชีพสุจริต ไม่ใช่หนี้สินจากการพนัน และจะต้องเป็นเจ้าของที่ดินนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีที่ดินเฉลี่ย 5 -15 ไร่”นายธีรภัทร กล่าว

ด้านนายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า บ.จ.ธ. จะดำเนินการไถ่ถอนที่ดินจากนายทุนแทนเกษตรกรก่อน เพื่อให้เกษตรกรกลับมามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น และนำที่มาดินมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำอีกที ในอัตราดอกเบี้ย3% ต่อปี วงเงินไม่เกิน 800,000 บาทต่อราย มีระยะเวลาชำระคืนสูงสุด 30 ปี นอกจากนี้ถ้าเกษตรกรสูญเสียที่ดินโดยสมบูรณ์จะดำเนินการซื้อที่ดินคืนให้แก่เกษตรกรจากนายทุนในราคาที่ตกลงกันได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากทางบ.จ.ธ.มาช่วยไกล่เกลี่ยเจรจาให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

นายสถิตย์พงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และธ.ก.ส.ในการแก้ไขปัญหาการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรแล้ว ในระยะต่อไปบ.จ.ธ.เตรียมที่จะยกระดับขึ้นเป็นธนาคารที่ดิน โดยมีภารกิจหลักใน 3 ด้าน คือ 1.การป้องกันการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร 2.การกระจายถือที่ดินในประเทศ 3.การใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และผ่านความเห็นชอบที่ประชุมครม. ได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้นจะส่งต่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำไปพิจารณาออกเป็นกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดตั้งธนาคารที่ดิน ขึ้นเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลังได้ตามเป้าหมายภายในเดือนกรกฎาคม 2560 อย่างแน่นอน

นายอดุลย์ กาญจนวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า เกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบและไม่สามารถชดใช้หนี้สินเองได้ ส่วนมากจะเป็นเกษตรกรจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 60%เนื่องจากมีพื้นที่ทำการเกษตรกรหรือทำนาน้อยเพียง 14-15 ไร่ ทำให้มีรายได้ต่ำ ไม่เหมือนเกษตรกรในเขตภาคกลางซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก ประกอบกับการที่เกษตรกรไม่ปลูกพืชหลากหลาย เน้นปลูกพืชและเพาะปลูกข้าวตามฤดูกาล ซึ่งถ้าปีไหนเกิดน้ำหลากหรือประสบปัญหาน้ำแล้ง เกษตรกรจะไม่มีรายได้มาใช้จุนเจือครอบครัวทำให้ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน