รถไฟทุ่ม 3.85 หมื่นล้าน สร้างทางคู่เชื่อมอีอีซี-เพิ่มประสิทธิภาพขนส่ง 3 ท่าเรือหลัก “แหลมฉบัง-สัตหีบ-มาบตาพุด” คาดเพิ่มมูลค่าการผลิตในระบบเศรษฐกิจ 1 แสนล้านบาท

รถไฟทุ่ม3.85หมื่นล้านสร้างทางคู่ – นายสมเกียรติ เตรียมแจ้งอรุณ ผู้จัดการโครงการ ศึกษาความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียด โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังประชุมรับฟังความเห็นครั้งสุดท้ายประชาชนวันนี้ (27 พ.ย.) ว่า เตรียมนำเสนอผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์เสนอให้ รฟท. พิจารณาในเดือนธ.ค.ปีนี้ เบื้องต้นคาดว่ารัฐบาลจะลงทุนดำเนินโครงการเองทั้งหมด โดยใช้จะใช้เม็ดเงินในการลงทุนรวมทั้งสิ้น 3.85 หมื่นล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายการเดินทางและการขนส่งทางรางจากภาคกลางไปยังเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักกับ 3 ท่าเรือ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง , สัตหีบ และมาบตาพุด รวมระยะ 202 กิโลเมตร จำนวน 18 สถานี ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งและกระจายสินค้าไปยังทุกภูมิภาคอาเซียนด้วย

“ผลการศึกษาเบื้องต้นโครงการนี้คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) สูงถึง 14% คาดว่าจะส่งผลทางอ้อมช่วยเพิ่มมูลค่าการการผลิตในระบบเศรษฐกิจได้ราว 1 แสนล้านบาท , เพิ่มมูลค่าการจ้างงาน 1.1 หมื่นล้านบาท และสร้างมูลค่าเพิ่มด้านรายได้ในจีดีพีได้อีก 2.9 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเสนอผลศึกษาฉบับสมบูรณ์ให้ รฟท. พิจารณาภายในเดือนธ.ค. หากเห็นชอบรถไฟฯ ก็จะเสนอของบประมาณจากรัฐบาลผ่านความการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกับเสนอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้คณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาควบคู่กันไป ซึ่งโครงการนี้อาจจะต้องเร่งทำเพื่อรองรับอีอีซี ตามนโยบายของรัฐบาลหากทุกอย่างเดินตามแผนคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2564 โดยจะใช้เวลาเวนคืน 2 ปี และก่อสร้างอีก 5 ปี”

นายสมเกียรติ กล่าวว่า การดำเนินโครงการจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย 1. ปรับปรุงทางรถไฟเดิมและอาณัติสัญญานและแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-สถานีชุมทางศรีราคา ระยะทาง 115 กิโลเมตร 2. ก่อสร้างทางคู่เส้นใหม่ ช่วงศรีราชา-ชุมทางเขาชีจรรย์-มาบตาพุด ระยะทาง 70 กิโลเมตร และชุมทางเข้าชีจรรย์-สัตหีบ 15 กิโลเมตร และ 3. ก่อสร้างทางเลี้ยงเมืองบริเวณชุมทางศรีราชา และชุมทางเขาชีจรรย์ระยะทาง 2 กิโลเมตร

ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการช่วงที่ 2 และ 3 ได้ก่อน เนื่องจากช่วงที่ 1 ยังติดปัญหาความชัดเจนของรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา สำหรับโครงการนี้จะมีการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟรวม 161 แห่ง ซึ่งจะต้องมีการเวนคืนที่ดินจากประชาชนจำนวน 750 ครัวเรือน โดยรอบเบื้องต้นซึ่งจะต้องจะใช้งบเวนคืนราว 3,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้เริ่มทยอยแจ้งไปยังประชาชนที่จะถูกเวนคืนที่ดินให้รับทราบแล้ว ซึ่งบางส่วนเริ่มแสดงความกังวล เช่น ในพื้นที่ลาดกระบังพบว่าประชาชนเริ่มกังวลเรื่องของผลกระทบด้านปัญหาการจราจรติดขัด ส่วนย่านศรีราชาและพัทยา พบว่าธุรกิจท้องถิ่นขนาดเล็กเริ่มความกังวลเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการพัฒนาจะทำให้ระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปยังท่าเรือเพียง 2 ชั่วโมง เนื่องจากรถไฟจะทำความเร็วได้มากขึ้น โดยในส่วนของการขนส่งสินค้า ความเร็วจะเพิ่มจาก 40-50 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 80-90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนการขนส่งคนความเร็วจะเพิ่มขึ้นจาก 60-70 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งนี้ มีการคาดการว่าว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 2.3 ล้านคน/ปี ในปีเปิดให้บริการ และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5.9 ล้านคน/ปี ในปี 2598 ส่วนการขนส่งสินค้าคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณ 83 ล้านตัน/ปี ในปีที่เปิดให้บริการ และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 250 ล้านตัน/ปี ในปี 2598

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน