เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 30 พ.ย. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยในงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การซื้อขายยาง กับภาคเอกชนและการส่งเสริมการใช้ยางในภาครัฐ ว่า ความร่วมมือนี้เป็นความสำเร็จของรัฐบาล ในการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และสร้างสมดุลของราคายางให้เหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้และความกินดีอยู่ดีให้กับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องเผชิญสถานการณ์ความไม่แน่นอนของราคายางมาอย่างต่อเนื่อง

“พิธีการลงนามบันทึกความเข้าใจนี้ถือเป็นหนึ่งในมาตรการคู่ขนานหลายมาตรการ ที่ดำเนินการไปพร้อมกับมาตรการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ที่ได้เริ่มโอนเงินงวดแรกไปแล้ว”

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาราคายางประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1. การประกันรายได้อย่างเป็นธรรม เพื่อช่วยเกษตรเกษตรชาวสวนยาง โดยที่ผ่านมาได้โอนเงินชดเชยราคาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2562 ในจำนวนเกษตรกรสวนยาง 1.7 ล้านราย โดยจ่ายเงินชดเชยได้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งยังโอนได้ไม่ครบ จึงสั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ปรับระบบการตรวจสอบผู้ได้รับเงินชดเชย และต้องโอนให้ได้ครบทุกบัญชีทั้งบัตรสีชมพูและบัตรสีเขียว ขณะที่การจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้รอบต่อไป คือ รอบวันที่ 1 ม.ค. และ 1 มี.ค. 2563 ยืนยันว่าจะดำเนินการให้ได้ภายใน 1 วัน

ในส่วนที่ 2 คือมาตรการคู่ขนาน จะต้องเร่งเรัดให้เกิดการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของภาคเอกชนและภาครัฐ นอกจากนี้ จะต้องเร่งรัดในส่วนของการส่งออก จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงในการส่งออกยาง โดยประกอบด้วยการลงนาม 2 ชุด ระหว่าง การยางแห่งประเทศไทย กับเอกชน และ สหกรณ์การเกษตร กับ เอกชน รวมทั้งหมด เป็นข้อตกลง 9 ฉบับ เป็น จำนวนยาง 1.44 แสนตัน มูลค่า 7,200 ล้านบาท และ ไม้ยาง 1.05 แสนตัน มูลค่า 870 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งหมด 8,070 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน