ศูนย์วิจัยกสิกรไทยหั่นจีดีพีปี’62 เหลือ 2.5% ส่วนปีหน้าแค่ 2.7% หวั่นเบิกจ่ายงบประมาณช้าฉุดเหลือ 2.5% เตือนธุรกิจไทยเผชิญหลายมรสุม ทั้งเงินบาทแข็ง ภัยแล้ง และปรับค่าจ้างขั้นต่ำ กระทบหนักภาคเกษตร-การผลิต หวั่นคนตกงานเพิ่มอีก 30,000 คน

กสิกรไทยหั่นจีดีพีปี’62 – น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2562 ลงจากเดิมที่ 2.8% มาที่ 2.5% เพราะการชะลอตัวของการส่งออก ซึ่งตัวเลขล่าสุดติดลบ 2.5% จากผลของสงครามการค้า และเงินบาทที่แข็งค่า สิ้นปีนี้อาจจะหลุดไปอยู่ที่ 29.25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากขณะนี้อยู่ที่ 30.35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ รวมถึงการลงทุนโดยรวม โดยเฉพาะภาครัฐที่โตต่ำกว่าประเมิน และยังมีปัจจัยความล่าช้าของการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563

สำหรับในปี 2563 คาดการณ์จีดีพีขยายตัวที่ 2.7% ในกรอบประมาณการ 2.5%-3.0% โดยหวังแรงหนุนจากภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อน บนเงื่อนไขสำคัญคือรัฐบาลต้องเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณ ให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2563 แต่ในกรณีที่สถานการณ์ทางการเมือง ส่งผลกระทบให้เกิดความล่าช้าในการผลักดันเม็ดเงินงบประมาณใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และมีผลลบต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุนภาคเอกชน ก็อาจทำให้จีดีพีปีหน้าวิ่งเข้าหากรอบล่างของประมาณการที่ 2.5% หรือต่ำกว่านั้น เพราะตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่าง ภาคการส่งออกคาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องที่ประมาณการไว้ติดลบ 1%

“ส่งออกของไทยในปีหน้าจะยังติดลบ เพราะตลาดส่งออกหลักของไทย ทั้ง สหรัฐ จีน และญี่ปุ่นยังมีทิศทางชะลอตัว ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนไม่น่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในอนาคตอันใกล้ และเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่า โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าที่คาดว่าธนาคารกลางของสหรัฐ หรือเฟดจะลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ซึ่งจะกดดันให้เงินดอลลาร์ฯ ยังอ่อนค่า โดยคาดว่าเงินบาทในปีหน้าจะอยู่ที่ 29-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพราะฉะนั้นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าความหวังอยู่ที่การลงทุนของภาครัฐ แต่ยังต้องดูสถานการณ์ทางการเมืองคู่ไปด้วย ถ้าพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ล่าช้าไปถึงไตรมาสที่ 2 อาจจะฉุดจีดีพีทั้งปีให้เหลือ 2.5%ได้”

ด้านน.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ในปี 2563 ภาคธุรกิจต่างๆ ของไทยต้องประสบกับโจทย์ที่ยากขึ้น และปัจจัยเสี่ยงที่มีหลายปัจจัย ซึ่งหลักๆ คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาท มีค่าเฉลี่ยรายปีที่แข็งค่ากว่าในปี 2562 ที่อาจจะแข็งค่าได้ตั้งแต่ไตรมาสแรก นอกจากจะกระทบภาคส่งออกแล้ว จะส่งผลตามมาให้ภาคการผลิตหดตัวหรือลดกำลังการผลิตลง จนกระทบการจ้างงาน โดยในเบื้องต้นประมาณว่าการจ้างงานในภาคการผลิตจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมอีกกว่า 3 หมื่นตำแหน่ง จากปี 2562 ที่หายไป 1 แสนตำแหน่ง

พร้อมกันนี้ยังมีเรื่องภัยแล้งในปี 2563 ที่คาดว่าจะมีภาวะภัยแล้งรุนแรงกว่าปี 2562 เพราะเริ่มต้นปีด้วยปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่น้อยกว่าเดิมมากนั้น จะกระทบปริมาณผลผลิต มีผลให้จีดีพีภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรมีโอกาสหดตัว ส่วนจะเข้าใกล้ภาวะแล้งเป็นประวัติการณ์ดังเช่นที่เกิดในปี 2558-2559 นั้นหรือไม่ ต้องดูปริมาณฝนด้วย คงเป็นประเด็นติดตามซึ่งไม่เกิน 3-4 เดือนแรกของปี 2563 ก็คงมีความชัดเจนขึ้นแล้วว่าจะมีภาวะฝนทิ้งช่วงเข้ามาซ้ำเติมหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำล่าสุด โดยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5 บาท มีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2563 จะมีผลเพิ่มต้นทุนแรงงานเฉลี่ยอีก 0.3% จากปัจจุบันในภาคธุรกิจต้นทุนค่าแรงคิดเป็น 17% ของต้นทุนรวม แม้ว่าตัวเลขที่ปรับขึ้นมา 0.3%จะไม่มาก แต่ต้องทำให้ภาคธุรกิจ ทั้ง ร้านอาหาร ค้าปลีก ค้าส่ง ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าโภคภัณฑ์ (เกษตร) ประสบภาวะยากลำบากขึ้นไปอีก ซึ่งธุรกิจที่น่าห่วงที่สุด คือ ธุรกิจเกษตร จะเป็นกลุ่มที่เผชิญผลกระทบทั้ง ค่าเงินบาทแข็ง ภัยแล้ง และค่าแรงพร้อมๆ กัน ซึ่งทำให้ภาครัฐอาจต้องเตรียมนโยบายเฉพาะด้านเพื่อดูแลกลุ่มนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน