‘เกาหลีใต้-อาเซียน’เอาจริง – ผนึกปั้นสตาร์ตอัพยูนิคอร์น

งาน ASEAN-ROK Startup Expo 2019 ปีนี้ จัดที่อาคารจัดแสดงนิทรรศการ BEXCO นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ไปเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมนำทีมสานต่อความร่วมมือระหว่างเกาหลีใต้กับบรรดาสมาชิกอาเซียน

โดยเฉพาะภารกิจในการสร้างสตาร์ตอัพ ระดับยูนิคอร์น (Unicorn) หรือธุรกิจที่มีมูลค่าการระดมทุนมากกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาห์สหรัฐ ก่อนเปิดงาน นายสุวิทย์เยี่ยมชมบูธต่างๆ ในฮอลล์แรกนั้น ส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ เช่น การใช้หุ่นยนต์ในระบบอุตสาหกรรม การชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ตามบ้าน รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน และเครื่องสำอางที่ทำจากสารสกัดธรรมชาติจากพืชและสมุนไพรทั้งหลาย ฯลฯ ที่รัฐมนตรีอว.ถึงเอ่ยชมว่า WOW และ Wonderful

เกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการปั้นสตาร์ตอัพ มากถึงขั้นตั้งเป็นกระทรวงเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ เมื่อ สองปีที่แล้ว ปัจจุบัน ปัก ยองซอน นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี

‘เกาหลีใต้-อาเซียน’

ปัก ยองซอน และรมว.สุวิทย์

รัฐมนตรีหญิงกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการกำหนดทิศทางที่จะเดินไปใน 30 ปีข้างหน้าระหว่างเกาหลีใต้กับอาเซียน ที่มีความสัมพันธ์กันยาวนานมากกว่า 30 ปี โดยอาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของเกาหลีใต้ ที่ผ่านมาอาเซียนและเกาหลีใต้เป็นเพื่อนร่วมเดินทางในการพัฒนาประเทศด้วยกัน

ขณะที่ นายมุน แจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศนโยบายชัดเจนในการดำเนินงานมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy-NSP) เพื่อส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ กับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างใกล้ชิด และขับเคลื่อนส่งเสริมเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพให้เป็นรูปธรรม และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เกิดขึ้น โดยร่วมมือกันสร้าง และเชื่อมโยงนวัตกรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน

เพราะลำพังประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมไม่สามารถสร้างยูนิคอร์นขึ้นมาได้เอง

ปัจจุบันเกาหลีใต้มีสตาร์ตอัพระดับยูนิ คอร์น 9 รายแล้ว และกำลังลุ้นในการสร้างรายที่ 10 คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปี พร้อมกันนี้ยังตั้งเป้าจะมีถึง 20 รายให้ได้ ขณะที่ไทยกับเกาหลีพูดคุยกันว่าทำอย่างไรเพื่อให้สตาร์ตอัพของสองประเทศ มีโอกาสในการลงทุนหรือทำงานร่วมกันมากขึ้น รวมถึงการช่วยกันปั้นยูนิคอร์นให้เกิดขึ้นในอาเซียน

ก่อนหน้านี้ในงาน Thailand-Korea Business Forum ที่กรุงเทพฯ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ประชุมหารือร่วมกับ Korea SMEs and Startups Agency หรือ KOSME ในประเด็นเกี่ยวกับการส่งเสริม สตาร์ตอัพ จนมีการลงนามความร่วมมือ และหารือกันในหลายเรื่อง

รถของบริษัทฮุนไดที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน

อาทิ การพัฒนาศักยภาพสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ จัดตั้งกองทุน ยุวสตาร์ตอัพของไทย และ Korea Institute of Startup & Entrepreneurship Development (KISED) เพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัพในมหาวิทยาลัยชั้นนำระหว่างกัน พร้อมสนับสนุนให้เกิด Deep Tech Startup เน้นการหาแนวทางให้เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระดับสูงในกลุ่ม BCG (Bio-Circular-Green Economy) และเกษตรอัจฉริยะ

นายสุวิทย์กล่าวว่า การมาเกาหลีใต้คราวนี้ อยากเชิญชวนบริษัทเกาหลีที่ทำเรื่องเทคโนโลยีเข้าร่วมเขตนวัตกรรมระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เนื่องจากเกาหลีมีความเชี่ยวชาญมากในเรื่องเอไอ ซึ่งไทยอาจมอบสิทธิพิเศษให้แก่นักลงทุนเกาหลี จากที่สังเกตว่า นักลงทุนเกาหลีไปร่วมลงทุนในเวียดนามกว่า 8,000 ราย ขณะที่มาลงทุนในไทยไม่ถึง 1,000 ราย กรณีของไทยเน้นบริษัทเกาหลีที่ทำเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง จึงไม่ได้ไปแย่งตลาดกับทางเวียดนามแต่อย่างใด

รัฐมนตรีอว.เล่าอีกว่า บริษัทฮุนไดนำรถที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนมาจัดแสดงด้วย ถือเป็นพลังงานสะอาดและดีต่อ สิ่งแวดล้อม เพราะผลจากการสันดาปจะได้น้ำออกมา แทนที่ จะเป็นก๊าซคาร์บอกไดออกไซด์ เกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ และจะนำรถที่ใช้ไฮโดรเจนไปจำหน่ายในประเทศยุโรปปีหน้า

‘เกาหลีใต้-อาเซียน’

พิธีลงนาม

ในงาน ASEAN-ROK Startup Expo 2019 ยังมีผู้บริหาร 3 องค์กรของประเทศไทย ได้แก่

1.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

2.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

3.ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ บรรษัทเทคโนโลยีการเงินประเทศเกาหลี Korea Techhnology Finance Corporation (KOTEC) โดยมีนายสุวิทย์ และนางปัก ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างโปรแกรมสนับสนุนการเติบโต การพัฒนา Tech-startup SMEs ของแต่ละกลุ่ม

ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้ รับผลประโยชน์หลายอย่าง อาทิ 1.ผลการประเมินศักยภาพทางธุรกิจ รวมทั้ง จุดแข็งและโอกาสจากการประเมินโดย ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา นำไปพัฒนาปรับปรุงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโน โลยีและการดำเนินธุรกิจ

2.เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งในส่วนของสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ควบคู่กับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Start up&Innobiz ของบสย. และ การร่วมลงทุนในรูปแบบต่างๆ 3.เพิ่มโอกาส เข้าถึงกลไกสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีจากทางภาครัฐและเอกชน

‘เกาหลีใต้-อาเซียน’

หุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงงาน

นอกจากนี้สวทช. โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (เนคเทค) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลีใต้ จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการวิจัย วิชาการ และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อร่วมมือและส่งเสริมการศึกษา วิจัย และพัฒนาแพลตฟอร์มประมวลข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานและแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ จัดการ สังเคราะห์และแสดงผลผลลัพธ์ ไปสู่การขยายผลเพื่อสร้างนวัตกรรมภาครัฐ

รวมทั้งพัฒนาเป็นนโยบายและบริการภาครัฐที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ

โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน