เงินบาทแข็งโป๊กทุบส่งออกกุ้งไทย-แข่งไม่ได้ฉุดปี’62 เสียตลาดหลักให้ เวียดนาม-อินเดีย จี้รัฐบาลเร่งเปิดตลาดใหม่

เงินบาทแข็งโป๊กทุบส่งออกกุ้ง – นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ผลผลิตกุ้งของไทย ปี 2562 มีปริมาณ 2.9 แสนตัน ลดลงประมาณ 4-5% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2561 ปริมาณ 3 แสนตัน มีการส่งออก 10 เดือน ระหว่างม.ค.-ต.ค.ปริมาณ 1.35 แสนตัน ลดลง 5.51% จากปีก่อนที่มีปริมาณ 1.43 แสนตัน มูลค่า 4.01 หมื่นล้านบาท ลดลง 11.77% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 4.55 หมื่นล้านบาท โดยทั้งปี 2562 คาดว่าจะมีการส่งออกได้ประมาณ 1.5-1.6 แสนตัน ซึ่งลดลง 20% จากเป้าหมายทั้งปี 2 แสนตัน หรือมูลค่าส่งออกทั้งปีประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 20% จากเป้าหมาย 6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ไทยได้สูญเสียตลาดกุ้งขนาดใหญ่ มีการส่งออกลดลงเกือบทุกตลาดยกเว้นจีน ทั้งมูลค่าและปริมาณ ในรอบ 10 เดือนแรกของปีนี้ ดังนี้ ตลาดเอเชียส่งออกได้ 8.16 หมื่นตัน ลดลง 1.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 8.26 หมื่นตัน มูลค่าส่งออก 2.22 หมื่นล้านบาทลดลง 7.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 2.42 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นตลาดจีนไทยส่งออกได้ 2.2 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 55.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 1.42 หมื่นตัน มูลค่าส่งออก 5.97 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 36.12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 4.39 พันล้านบาท

ตลาดญี่ปุ่น ไทยส่งออกได้ 3.28 หมื่นตัน ลดลง 4.59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 3.43 หมื่นตัน มูลค่าส่งออก 1.1 หมื่นล้านบาทลดลง 9.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1.21 หมื่นล้านบาท ตลาดอื่นๆ ไทยส่งออกได้ 2.67 หมื่นตัน ลดลง 21.43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 3.4 หมื่นตัน มูลค่าส่งออก 5.27 พันล้านบาทลดลง 31.33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 7.67 พันล้านบาท

ตลาดสหรัฐ ไทยส่งออกได้ 3.67 หมื่นตัน ลดลง 9.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 4.07 หมื่นตัน มูลค่าส่งออก 1.25 หมื่นล้านบาทลดลง 13.72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1.45 หมื่นล้านบาท,ตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ไทยส่งออกได้ 4.98 พัน ลดลง 10.08% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 5.54 พันตัน มูลค่าส่งออก 1.7 พัน ล้านบาท ลดลง 15.17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการส่งออก 2.01 พันล้านบาท และตลาดออสเตรเลียไทยส่งออกได้ 4.4 พันตัน ลดลง 30.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 6.39 พันตัน มูลค่าส่งออก 1.4 พันล้านบาทลดลง 38.25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 2.31 พันล้านบาท

ขณะนี้ไทยได้สูญเสียตลาดส่งออกหลักให้กับคู่แข่งไปหมดแล้ว โดยตลาดสหรัฐ ไทยส่งออกได้อันดับที่ 5 โดยสหรัฐหันไปนำเข้ากุ้งจากอินเดีย อินโดนีเซีย และเอกวดอร์ จากปี 2553 ไทยเคยครองส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดกุ้งสหรัฐ 36% ปี 2562 ไทยเหลือส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 3% ตลาดญี่ปุ่น ไทยเคยครองตลาดอันดับ 1 ในปี 253 ในสัดส่วนทางการตลาด 22% ปัจจุบัน เวียดนามครองอันดับ 1 ด้วยสัดส่วทางการตลาด 25% สัดส่วนทางการตลาดของไทยเหลือ 17% ถอยมาอยู่ในลำดับ 2 ส่วนตลาดอียูปี 2553 ไทยเคยครองส่วนแบ่งการตลาด 9% อยู่ในอันดับ 3 ปัจจุบันไทยไม่ติดอันดับ”

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า โดยเงินบาทแข็งค่า 1 บาท เท่ากับต้นทุนส่งออกหายไปคิดเป็น 5-10 บาท/กิโลกรัม(ก.ก.) ปีนี้พบว่าเงินบาทแข็งค่าจากปีก่อน 10% ทำให้ราคาขายกุ้งของเกษตรกร หายไปประมาณ 30 บาท/ก.ก. และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกลดลงอย่างมาก ขณะที่คู่แข่งค่าเงินอ่อนค่าลงกลับแข็งขันดีกว่าไทยมาก จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดดยผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นอย่าง

“อยากให้รัฐบาลดูแลค่าเงิน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออก เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยสามารถขายกุ้งได้ในราคาที่ดีขึ้น ประกอบกับหลังจากที่ไทยโดนตัดจีเอสพี ก็ทำให้ตลาดหลักต่างๆ สูญเสียไป ดังนั้นรัฐบาลควรเจรจาเปิดตลาดใหม่ เร่งหาวิธีตอบโตการทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty) ของสหรัฐ ทำให้ที่ไทยต้องเสียภาษี 0.81% ขณะที่ เวียดนามเก็บภาษี 0% และการตัดสิทธิจีเอสพีของอียูทำให้กุ้งไทยเสียเปรียบทางการค้า แต่เรื่องของอย่างให้รัฐบาลจริงใจในการช่วยเหลืออุตสาหกรรมกุ้งไทย ให้เร่งเจรจาเอทีเอ ไทย-อียู ซึ่งเรื่องจีเอสพีของอียู ทุกคนก็รู้ว่ามันเกี่ยวข้องกับเรื่องของเหล้า และสิทธิบัตรยา รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่ออนาคตเกษตรกรและผู้ส่งออกกุ้งของไทย”

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปี 2563 คาดว่าผลผลิตกุ้งจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% หรือประมาณ 3.5-4 แสนตัน และตั้งเป้าส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากปี 2562 หรือส่งออกรวมประมาณ 6 หมื่นล้านบาทแต่ปัจจัยลบในอุตสาหกรรมกุ้งยังมีมากอาทิ เงินบาท หากยัง 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ราคาก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้น ราคาที่เกษตรกรขายได้น่าจะทรงตัว เพราะราคากุ้งขึ้นอยู่กับราคาในตลาดโลก รวมถึงสถานการณ์สงครามการค้าที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะยังชะลอตัว การบริโภคกุ้งของโลกจะยิ่งลดลงส่งผลกับการส่งออกของไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน