คลังย้ำให้แจ้งท้องถิ่นขอเสียภาษีที่ดินในอัตราที่ถูกต้อง หลังเริ่มส่งแบบเสียภาษีถูกระบุว่าใช้ประโยชน์อื่นๆ ไม่ใช่เพื่ออยู่อาศัย ต้องเสียภาษีหนัก ส่วนคอนโดฯ ปล่อยเช่ารายเดือนไม่อยู่อาศัยจริง ต้องเสียภาษีล้านละ 3,000 บาท หากจงใจเลี่ยงภาษีโดนสอบย้อนหลัง 3 ปี ปรับหนักสุด 4 หมื่น-คุก 2 ปี

เสียภาษีที่ดินในอัตราที่ถูกต้อง – จากกรณีที่มีประชาชนได้รับเอกสารแจ้งข้อมูลแบบรายการที่อยู่อาศัยสำหรับนำไปใช้ประเมินการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและกรุงเทพมหานครซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2563 นี้ ไม่ถูกต้อง โดยบางรายมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้อยู่อาศัย แต่กับถูกระบุให้เป็นใช้ประโยชน์เพื่อ “อื่นๆ” หรือเชิงพาณิชย์ ซึ่งทำให้ต้องเสียภาษีสูงกว่าความจริง

นายชุมพล สุวรรณกิจบริหาร เลขานุการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ผู้เสียภาษีที่ได้รับเอกสารแจ้งข้อมูลรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากทางการไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการใช้ประโยชน์ ขนาด หรือประเภท เช่น จากการใช้อยู่อาศัยไปเป็นเชิงพาณิชย์ หรือจากใช้เพื่อเกษตรกรรมไปเป็นอุตสาหกรรม ต้องไปยื่นแก้ไขแบบรายการให้ถูกต้องได้ โดยหากอยู่ในกรุงเทพมหานครให้ไปแจงที่สำนักงานเขตกรุงเทพ ส่วนอยู่ต่างจังหวัดให้แจ้งตรงกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น อบต.หรือเทศบาล จนถึงสิ้นเดือนมี.ค. 2563 ซึ่งเป็นไปตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยที่มีการเลื่อนการจัดทำบัญชีที่ดินไปถึงเดือนมี.ค.ปีหน้า

นอกจากนี้ หากใครที่ยังไม่ได้รับเอกสารแจ้งข้อมูลบัญชีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากท้องถิ่น ก็สามารถไปขอตรวจสอบบัญชีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเองได้ ที่สำนักงานเขต หรือ อปท. ในพื้นที่ที่อยู่จริง เพื่อดูบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่ามีการระบุประเภท ขนาด และลักษณะการใช้ประโยชน์ถูกต้องหรือไม่ พร้อมกับสามารถแจ้งขอแก้ไขได้ทันที

อย่างไรก็ดี ผู้เสียภาษีจะต้องยื่นแบบแจ้งที่อยู่อาศัยหลังแรกที่ต้องการเว้นภาษี มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยมีชื่อในโฉนดที่ดินและมีชื่อเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านตรงกัน ส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยหลัง 2 เป็นต้นไป เช่น เป็นเจ้าของโฉนดคอนโดฯ แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ให้แจ้งเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อขอเสียภาษีล้านละ 200 บาท แต่ถ้าเป็นการปล่อยเช่าคอนโดฯ ในเชิงพาณิชย์ก็จะต้องเสียภาษีล้านละ 3,000 บาท ขึ้นอยู่กับการแจ้งประเภทการใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ

ดังนั้น จึงขอให้ผู้เสียภาษีแจ้งข้อมูลบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นจริง เพราะหากแจ้งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือจงใจหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ถือว่ามีความผิดและบทลงโทษตามกฎหมาย โดย อปท. และกรุงเทพมหานคร มีอำนาจตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้ถึง 3 ปี พร้อมกับมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับสูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงต้องชำระภาษีให้ถูกต้องตามจำนวนที่แท้จริง

นายชุมพล กล่าวว่า ในเดือนมิ.ย. 2563 อปท. และกรุงเทพมหานคร จะส่งแบบการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปให้ผู้เสียภาษีเพิ่ม จึงขอให้ประชาชนตรวจสอบการใช้ราคาประเมินและอัตราภาษีว่าตรงตามมูลค่าและการใช้ประโยชน์หรือไม่ หากไม่ตรงสามารถทำเรื่องคัดค้านให้เสร็จภายใน 30 วันนับจากวันได้รับเอกสาร จากนั้นทาง อปท. จะใช้เวลาตรวจสอบและหากผลออกมายังไม่ถูกต้อง ผู้เสียภาษีสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ผ่านคณะกรรมการพิจารณาภาษีอุทธรณ์จังหวัด ตลอดจนสามารถยื่นเรื่องศาลภาษีอากรกลางเป็นผู้พิจารณาตัดสินได้

นายชุมพล กล่าวว่า คลังยืนยันว่าผู้มีที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 หลัง รวมถึงมีบ้าน หรือคอนโดมิเนียมสำหรับปล่อยเช่าเพื่อหารายได้เสริม จะต้องเสียภาษีตามที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ กำหนดไว้ แม้จะมีความจำเป็นต้องมี หรือไม่ได้ตั้งใจหารายได้เชิงพาณิชย์จริงจังก็ตาม เพราะในส่วนของการมีบ้านมากกว่า 1 หลัง คลังถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการจ่ายภาษีเพิ่มได้ ที่สำคัญค่าใช้จ่ายภาษีสำหรับที่อยู่อาศัย ก็ไม่ได้สูงแต่อย่างใด เริ่มต้นเพียงล้านละ 200 บาทต่อปีเท่านั้น

ส่วนกรณีการมีบ้าน หรือคอนโดฯ เพื่อปล่อยเช่า แม้จะเป็นบ้านหลังแรก หรือไม่ได้ปล่อยเช่าเพื่อหารายได้เชิงพาณิชย์เต็มตัว ก็ต้องเข้าข่ายเสียภาษีด้วย เพราะถือว่าการครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น เป็นการสร้างรายได้ให้ โดยต้องเสียภาษีกลุ่มเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม ซึ่งเสียภาษีต่อปีเริ่มต้นล้านละ 3,000 บาท เช่น หากปล่อยเช่าบ้านที่มีมูลค่า 2 ล้านบาท ก็เสียภาษีที่ 6,000 บาทต่อปี

“คลังยืนยันว่าการพิจารณาอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้คำนึงแล้วว่าจะไม่สร้างภาระให้กับผู้มีบ้านสำหรับอยู่อาศัยมากเกินไป เพราะหากจำเป็นต้องมีบ้าน 2 หลัง 3 หลังจริงๆ ก็จะเสียเพิ่มเพียงล้านละ 200 บาทต่อหลังเท่านั้น ซึ่งไม่ได้สูงอะไร เพื่อเป็นการสนับสนุนให้คนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีเพิ่มขึ้น”

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในกรณีที่มีการนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น คอนโดฯ ห้องแถวปล่อยเช่า รายได้ที่ได้จากการปล่อยเช่า จะต้องนำมารวม เพื่อยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ประจำปีด้วย เป็นคนละส่วนกับการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับท้องที่ล้านละ 3,000 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน