กระทรวงคลังทุ่มแสนล้านอุ้มเอสเอ็มอีแสนราย ชงครม. เห็นชอบสัปดาห์หน้า ให้บสย.เพิ่มวงเงินค้ำประกัน-ยืดระยะเวลาฟ้องลูกหนี้เสีย พร้อมให้แบงก์รัฐอัดฉีดสินเชื่อเพิ่ม

คลังทุ่มแสนล้านอุ้มเอสเอ็มอี – นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 ม.ค. 2563 กระทรวงการคลัง จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการเสริมแกร่งเอสเอ็มอี เพิ่มทุน สร้างไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ใช้ดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1 แสนราย แบ่งเป็น 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1. กลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีปัญหา แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย และมีปัญหาเข้าถึงแหล่งเงินทุน จะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายการค้ำประกันเพิ่มจากปัจจุบัน 30% แต่ไม่เกิน 50% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ในมาตรการแรกจะใช้วงเงินจากกองทุนเอสเอ็มอี จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) วงเงิน 3-5 พันล้านบาท ใช้ดูแลกลุ่มลูกหนี้ในมาตรการได้ 50% หรือประมาณ 5 หมื่นราย

กลุ่มที่ 2. ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นเอ็นพีแอล ก็จะให้ บสย. ชะลอการฟ้องร้อง เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปรับโครงสร้างหนี้กับเอสเอ็มอีได้ เพิ่มกระบวนการจากเดิม 5 เป็น 7 ปี และให้สามารถเพิ่มสินเชื่อได้ มาตรการนี้ครอบคลุมลูกหนี้ 20% หรือประมาณ 2 หมื่นราย

นายอุตตม กล่าวว่า มาตรการที่ 3 จะดูแลกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ดำเนินการปกติ ไม่ได้มีปัญหา แต่ต้องการเงินทุนเพิ่ม ก็จะให้ธนาคารกรุงไทย เข้าไปปล่อยสินเชื่อเพิ่ม 6 หมื่นล้านบาท และธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อ 4 หมื่นล้านบาท และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ร่วมปล่อยกู้เพิ่ม ซึ่งจะครอบคลุมลูกค้าอีก 30% หรือประมาณ 3 หมื่นราย

ทั้งนี้ มาตรการทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งจากการหารือในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ นายกฯ ได้สั่งการให้มีการดูแลเอสเอ็มอีเป็นพิเศษ ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ซึ่งมาตรการที่ออกมาได้มีการหารือร่วมกับ ทั้งคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย บสย. โดยไม่ได้มีการใช้งบประมาณเพิ่มเติมสักบาทเดียว เป็นเงินสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จะเข้าไประบบ การดูแลเอสเอ็มอีก็จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้น กว่าปี 2562 ที่ผ่านมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน