รายงานพิเศษ

แม้สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น ตามตัวเลขที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแถลงออกมา แต่ปัญหาที่ยืดเยื้อมานานหลายปีคือการลงทุนของเอกชนมีน้อยเกินไป

เมื่อภาคการค้าการลงทุนเอกชนนิ่งสนิท จึงเป็นภาระของรัฐบาลผลักดันการลงทุนให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อช่วยประคับประคอง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมให้เดินหน้าต่อไปได้

โฟกัสเน้นหนักจี้ไปที่กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรเม็ดเงินลงทุนตามแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะเร่งด่วนหรือ Action ปี 2560 มากที่สุด 895,757.55 ล้านบาท ให้เร่งเดินหน้าโครงการลงทุน 36 โครงการแบบด่วนจี๋ เพื่ออัดฉีดเม็ดให้ลงไปสู่ระบบฐานรากเศรษฐกิจ

ถึงตอนนี้ผ่านปี 2560 มาแล้ว 4 เดือน ลองสำรวจดูว่าการลงทุนในแต่ละโครงการว่ามีความคืบหน้าไปมากน้อยแค่ไหน

สำหรับ 36 โครงการนั้น แบ่งเป็น โครงการรถไฟทางคู่ 10 เส้นทาง วงเงินรวม 408,616.28 ล้านบาท (สัดส่วนงบประมาณ 45.62%) ประกอบด้วย ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร วงเงิน 7,340 ล้านบาท ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับทีโออาร์เป็นครั้งที่ 2 คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ต้นเดือน พ.ค.นี้

รถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี วงเงิน 23,384.91 ล้านบาท, ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา วงเงิน 51,823.83 ล้านบาท, ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 7,941.80 ล้านบาท, ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย วงเงิน 56,066.25 ล้านบาท, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 35,839.74 ล้านบาท ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 26,065.75 ล้านบาท รฟท.อยู่ระหว่างการปรับแผนการดำเนินงานใหม่ขณะนี้เตรียมเสนอขออนุมัติจากกระทรวงคมนาคมในเดือนพ.ค.

รถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ วงเงิน 59,924.24 ล้านบาท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือสนข. ได้ออกแบบรายละเอียดส่งให้ รฟท. ตรวจสอบแบบแล้ว เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว โดยกระทรวงได้สอบถามความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล่าสุด ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเสนอให้ ครม. พิจารณาในเดือนพ.ค.นี้

ส่วนทางคู่อีก 2 ช่วงสุดท้ายช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 76,978.82 ล้านบาท และช่วงบ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 60,351.91 ล้านบาท ได้ผ่านความเห็นชอบของบอร์ดรฟท.แล้ว เตรียมเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเร็วๆ นี้

ส่วนรถไฟชานเมืองของ รฟท. อีก 2 เส้นทาง วงเงิน 26,639.07 ล้านบาท นั้นสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ. รังสิต วงเงิน 7,596.94 ล้านบาท รฟท. เตรียมเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเร็วๆ นี้

สายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 19,042.13 ล้านบาท และตลิ่งชัน-ศาลายา อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการศึกษาและเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมในเดือนพ.ค.นี้

โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 6 เส้นทาง วงเงินรวม 221,148.35 ล้านบาท แบ่งออกเป็นโครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือ รฟม. 5 โครงการและของ รฟท. 1 โครงการ

โครงการของรฟม. เช่น สายสีน้ำเงิน บางแค-พุทธมณฑล วงเงิน 421,197.00 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดจากสภาพัฒน์, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ระยะทาง 16.4 ก.ม. วงเงิน 1.09 แสนล้านบาท ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากบอร์ดสภาพัฒน์แล้ว คาดว่าจะเสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการได้ในเดือนพ.ค.นี้

สายสีเขียวเข้ม สมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 12,146.00 ล้านบาท และสายสีเขียวเข้ม คูคต-ลำลูกกา วงเงิน 9,803.00 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.

อีก 1 โครงการของรฟท. คือระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย (ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท) ARL วงเงิน 31,149.35 ล้านบาทนั้น รฟท. นำเสนอผลรายงานการศึกษาให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือพีพีพีแล้ว

โครงการของกรมทางหลวง (ทล.) ประกอบด้วยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และทางพิเศษ (ทางด่วน) รวม 5 เส้นทาง 167,222.65 ล้านบาท

แบ่งเป็นมอเตอร์เวย์ ของทล. 3 เส้นทาง และทางด่วน ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อีก 2 เส้นทาง สำหรับมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทางนั้น สายนครปฐม-ชะอำ วงเงิน 80,600 ล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานพีพีพี, สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย วงเงิน 30,500 ล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานพีพีพี และมอเตอร์เวย์สายกะทู้-ป่าตอง วงเงิน 10,496.65 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อม

โครงการของ กทพ. คือทางด่วน 2 สายทางคือ สายพระราม 3-ดาวคะนองวงแหวนรอบนอก กทม. ด้านตะวันตก วงเงิน 31,244 ล้านบาท กระทรวงคมนาคมขอให้ กทพ.กลับไปปรับแผนงานใหม่ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง มีความเห็นให้ กทพ.กลับไปใช้วิธีกู้เงินก่อสร้างแทน

ส่วนทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor วงเงิน 14,382.00 ล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกทางถนนจำนวน 5 โครงการ วงเงิน 21,473.29 ล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาจุดพักรถบรรทุกตามเส้นทางหลัก วงเงิน 550 ล้านบาท, ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ วงเงิน 2,365.81 ล้านบาท ลงนามในสัญญาจ้างควบคุมงานแล้ว

ศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงิน 1,053.62 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานรูปแบบการร่วมทุน, โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค (ชายแดน 9 จังหวัด) วงเงิน 8,065.84 ล้านบาท และโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค (เมืองหลัก 8 จังหวัด) วงเงิน 9,438.02 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษา

นอกจากนี้มีโครงการที่เกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะ 1 โครงการวงเงิน 2,272.22 ล้านบาท คือจัดซื้อรถโดยสารรถไฟฟ้า จำนวน 200 คัน วงเงิน 2,272.22 ล้านบาท พร้อมก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้าขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) คาดว่าต้นเดือนพ.ค. จะสรุปผลการเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เบื้องต้นกำหนดให้มีการส่งมอบ 50 คัน ภายในเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งมอบครั้งละ 50 คัน ในเดือน ก.พ. เม.ย.และ มิ.ย. 2561 ส่วนโครงการลงทุนทางน้ำ มี 3 โครงการ วงเงิน 36,081.24 ล้านบาท คือ 1.การเดินเรือเฟอร์รี่ เชื่อมอ่าวไทยตอนบน เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อเดือนม.ค. 60

2.การพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมอ่าวไทยตอนบน วงเงิน 981.70 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการและการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ 3.ท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 วงเงิน 35,099.54 ล้านบาท การจัดทำรายการผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีความล่าช้า เนื่องจากประชาชนในพื้นที่คัดค้าน

สุดท้ายโครงการทางอากาศ มี 3 โครงการ วงเงิน 10,949.11 ล้านบาท 1.การพัฒนาท่าอากาศ ยานภูมิภาค คือ แม่สอด เบตง สกลนคร และกระบี่ วงเงินรวม 7,685.50 ล้านบาท

ส่วนของเบตงมีความคืบหน้า 0.4% โดยผู้รับเหมาเพิ่งลงพื้นที่เกลี่ยดิน ขณะนี้ยังต้องจัดซื้อที่เพิ่มเติมอีก 10 ไร่ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564

แม่สอดขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากปัจจุบันที่รองรับเครื่องบินขนาดเล็ก 80 ที่นั่ง จะขยายให้รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ จะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2563 เช่นเดียวกัน ส่วนกระบี่โดยขณะนี้อยู่ระหว่างของบประมาณปี 2561

2.โครงการปรับปรุงระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระและระบบตรวจจับวัตถุระเบิด สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 3,263.61 ล้านบาท บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. นี้

และ 3.โครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นั้น เมื่อช่วงต้นเดือนมี.ค. การบินไทยและ แอร์บัส จากฝรั่งเศส ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในปี 2560 และนำเสนอโครงการเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพีพีพีในปี 2561

รัฐบาลเองคาดหวังว่าการเดินหน้าลงทุนของกระทรวงคมนาคม คงเป็นอีกส่วนที่จะช่วยผลักดันภาพรวมเศรษฐกิจให้ดีขึ้น รวมถึงกระจายความเจริญไปตามเส้นทางคมนาคม

และเป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ภาคเอกชนเริ่มหันมาลงทุนมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน