อีอีซีหน้าบานรับยอดคำขอลงทุนอีอีซีปี’62 กว่า 4.4 แสนล้าน จีนลงสูงสุดแซงญี่ปุ่นครั้งแรก ดันยอดคำขอปี’62 เหนือเป้า เล็งถกคลังหามาตรการจูงใจลงทุนไทยแบบนันสต็อป

ยอดคำขอลงทุนอีอีซีพุ่ง – นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายแก่สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า ได้มอบหมายให้บีโอไอร่วมหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อหามาตรการกระตุ้นการลงทุนในช่วง 6 เดือนข้างหน้า รวมถึงมาตรการลดผลกระทบให้ภาคเอกชนรับมือกับภาวะเงินบาทแข็งค่า โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ และเตรียมให้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน มีกำหนดการประชุมช่วงต้นเดือนก.พ.นี้ พิจารณา

นอกจากนี้ จะเสนอให้พิจารณาปรับปรุงขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับเอสเอ็มอีจากที่จะสิ้นสุดในเดือนก.พ. 2563 พร้อมกำหนดเป้าหมายยอดขอรับส่งเสริมปี 2563 ให้มีความชัดเจน โดยปี 2563 จะเพิ่มประเภทกิจการที่ยังไม่เคยได้รับการส่งเสริมเข้าไป และปรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เน้น 4 เรื่องหลัก คือ 1. กลุ่มท่องเที่ยวและบริการ 2. กลุ่มครีเอทีฟ อีโคโนมี 3. กลุ่ม BCG และ 4. กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก รองรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

สำหรับสถานการณ์การลงทุนปี 2562 ที่ผ่านมามีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,624 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 756,100 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อยซึ่งตั้งไว้ที่ 750,000 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมการลงทุนส่วนใหญ่ ประมาณ 500,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) โดยเป็นปีแรกที่นักลงทุนจากจีนลงทุนในไทยสูงสุด 260,000 ล้านบาท มากกว่า นักลงทุนจากญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยมากที่สุดมาโดยตลอด ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ถึง 100,000 ล้านบาท ตามนโยบายที่จีนส่งเสริมให้ออกมาลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น และมีแนวโน้มที่การลงทุนจากจีนจะเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง จากผลกระทบเรื่องสงครามการค้าและค่าแรงที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ เป็นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีจํานวนทั้งสิ้น 506 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 444,880 ล้านบาท หรือคิดเป็น 59% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริม การลงทุนทั้งหมด โดย จ.ระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด ตามด้วย จ.ชลบุรี และจ.ฉะเชิงเทรา

ขณะที่ยอดคําขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีจํานวน 838 โครงการ มูลค่าเงิน ลงทุนรวม 286,520 ล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เงินลงทุนรวม 80,490 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เงินลงทุนรวม 74,000 ล้านบาท และอันดับ 3 ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เงินลงทุนรวม 40,100 ล้านบาท

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่าปี 2563 คาดการลงทุนยังมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากบีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน เพื่อเร่งรัดการลงทุนโดยเฉพาะ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ ผ่านมาตรการ Thailand Plus ที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี สําหรับโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2563 และมีการลงทุนจริง ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 รวมทั้งได้ขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสําหรับวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ใช้อยู่เดิมจนถึงเดือนก.พ. 2563 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ ขนาดกลางและเล็ก ก่อนที่บีโอไอจะนําเสนอมาตรการเอสเอ็มอีที่ปรับปรุงใหม่ในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไป

นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีโดยให้โครงการลงทุน ในทุกพื้นที่ในอีอีซีสามารถได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม (ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 3 ปี หรือยกเว้น 2 ปี) ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมหรือไม่ หากโครงการรับนักศึกษาฝึกงานตามจํานวนขั้นต่ำกําหนด เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่วนโครงการ ที่ตั้งในพื้นที่พิเศษ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรม ดิจิทัล (อีอีซีดี) เมืองการบินภาคตะวันออก (อีอีซีเอ) และศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา

ขณะเดียวกันนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอันเนื่องจากที่ตั้งอีกด้วยกรณีคําขอรับการส่งเสริมที่ยื่นตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2563 จนถึงสิ้นปี 2564 แต่หากตั้งโครงการในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ ได้แก่ เขตอีอีซีไอ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) เมืองการบินภาคตะวันออก (อีอีซีเอ) และศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา ผู้ประกอบการสามารถยื่นคําขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ไม่มี กําหนดระยะเวลาสิ้นสุด

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดการลงทุนในช่วงจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ เช่น การเปลี่ยนหรือนำเข้าเครื่องจักร ซึ่งจะให้บีโอไอหารือกับกรมสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมามาตรการกระตุ้นการลงทุนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน