กระทรวงการคลังเล็งหาช่องออกกฎหมายกู้เงินพิเศษใช้ลงทุน – หวั่นพิษกดบัตรแทนทำงบปี’63 ล่าช้า ‘สมคิด’ ติงคนไทยอย่ามองโลกในแง่ร้าย ให้คิดถึงผลส่วนรวม เร่งเข็นงบประมาณให้เร็วที่สุด

คลังเล็งหาช่องกู้เงินลงทุน – นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อกู้เงินลงทุนในโครงการลงทุนที่อยู่ในปีงบประมาณ 2563 เป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลเตรียมไว้ หากงบประมาณ 2563 มีผลบังคับใช้ล่าช้ากว่าที่คิดไว้ เนื่องจากมีการดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การกดบัตรแทนกันในการเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ว่าเป็นการทำผิดและมีปัญหาทำให้งบประมาณ 2563 ใช้ไม่ได้

“เรื่องร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 เป็นหน้าที่ของสภาที่ดำเนินการอยู่ ต้องรอดูว่าจะทำอย่างไร หน้าที่ของรัฐ คลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มีหน้าที่ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ความมั่นคง ถ้ามีประเด็นงบประมาณ 2563 ล่าช้าออกไปอีก ก็ได้ให้หน่วยงานของคลัง พิจารณาแนวทางเลือกต่างๆ หากงบไม่ผ่าน เพื่อเสนอให้รัฐบาลแก้ไข ซึ่งมีหลายทางเลือก และการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อมาลงทุนแทนงบปี 2563 ก็เป็นแนวทางหนึ่ง”นายอุตตม กล่าว

ทั้งนี้ การที่งบประมาณ 2563 ล่าช้าไม่มีผลกระทบเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะรัฐบาลมีการเตรียมมาตรการที่เหมาะสมไว้แล้ว มีการหารือกับสำนักงบประมาณถึงทางเลือก และอำนาจทางกฎหมาย ว่าจะแก้ปัญหางบประมาณ 2563 ไม่ผ่านอย่างไรไว้แล้ว นอกจากนี้ สำนักงบประมาณได้แจ้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานของรัฐ ให้มีการเตรียมเซ็นสัญญาโครงการลงทุนของงบประมาณปี 2563 ไว้เลย เมื่องบประมาณผ่าน หรือ มีมาตรการหาเงินลงทุนมาใช้แทน จะได้ดำเนินการเซ็นสัญญาลงทุนได้ทันที

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องงบประมาณ 2563 ไม่อยากให้มองโลกในแง่ร้าย แต่เป็นเรื่องใหญ่ ต้องการเห็นทุกฝ่ายคิดถึงผลกระทบกับประเทศส่วนรวม งบประมาณ 2563 ให้เริ่มใช้ได้ตามปกติก็ล่าช้าอยู่แล้ว ถ้าช้าออกไปอีก ก็ควรช้าน้อยที่สุด เพราะเศรษฐกิจไม่มีเงินหล่อเลี้ยง รัฐจึงต้องเร่งการลงทุนรัฐวิสาหกิจ และการออกมาตรการดึงให้เอกชนลงทุนปีนี้ให้ได้

นายสมคิด กล่าวในโอกาสตรวจเยี่ยมติดตามงานของธนาคารกรุงไทย ร่วมกับ นายอุตตม ว่า ได้ขอให้ นายผยง ศรีวณิช ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ช่วยออกมาตรการผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอ และมีความไม่แน่นอนของงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า จึงต้องการให้เร่งปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี เพื่อให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังต้องการให้ธนาคารกรุงไทยออกมาตรการช่วยแก้หนี้ของข้าราชการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ฝากให้ดูแลเรื่องนี้มานานมาแล้ว หากมีทางปรับโครงสร้างหนี้ผ่อนปรนได้ ก็ให้หารือร่วมกับธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อออกมาตรการร่วมกัน หากลดดอกเบี้ยสินเชื่อให้กับผู้ขอสินเชื่อได้ก็จะเป็นการดี

ด้านนายผยง กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยสินเชื่อเป็นการทั่วไปเป็นเรื่องยาก เพราะการลดดอกเบี้ยของธนาคารต้องขึ้นอยู่กับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผ่านมาธนาคารได้คิดดอกเบี้ยต่ำกับการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่แล้ว ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการต้องหารือกับแบงก์รับทั้งหมดรวมกันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน