การบินไทย เล็งปลดพนักงานเอาต์ซอส 10% หวังลดค่าใช้จ่าย 4 พันล้าน – ลุยฟ้องเรียกค่าเสียหายโรลส์-รอยซ์ 9.75 พันล้าน

บินไทยเล็งปลดเอาต์ซอส – นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังร่วมประชุม กับนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารระดับสูงของ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบาย ว่า ในส่วนของมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายนั้น การบินไทยรายงานว่าปีนี้จะสามารถปรับลดค่าใช้จ่ายในการจัดจ้างการบุคคลากรภายในนอก หรือเอาต์ซอส ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 1 หมื่นคน ได้ 10% หรือลดลงได้ 3-4 พันล้านบาท เบื้องต้นเตรียมจะปรับจำนวนพนักงานเอาต์ซอสลงให้สอดคล้องกับงานรวมทั้งปรับลดปริมาณการจัดซื้อในระบบลง ซึ่งจะช่วยทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง เบื้องต้น เอาต์ซอส ทุกรายพร้อมให้ความร่วมมือ เช่น เอาต์ซอสที่ให้บริการภาคพื้นเป็นต้น

นอกจากนี้ การบินได้ยังรายงาน ความคืบหน้าในการเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ กรณีที่เครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลนเนอร์ จำนวน 15 ลำ ของการบินไทยต้องหยุดทำการบินจอดรออะไหล่เป็นเวลานาน จนเกิดความเสียหายและสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากใบพัดเครื่องยนต์ Trent 1000 มีปัญหาร้าวจน โดยในเดือนก.พ. นี้ นายสุเมธจะเดินทางไปยังประเทศอังกฤษเพื่อดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ด้านนายสุเมธกล่าวว่า กรณีของ Rolls-Royce การบินไทยพยายามเจรจามาตลอดตั้งแต่ปี 2560 แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงจำเป็นต้องดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับโรลส์-รอยซ์ ซึ่งจะเรียกค่าเสียหายเต็มที่ แต่จะได้รับเต็มจำนวนหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลจะตัดสิน

“ในเดือนก.พ. ผมจะไปอังกฤษเพื่อหารือกับที่ปรึกษากฎหมาย เพื่อเตรียมการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย แต่จะไม่ใช่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญา แต่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีที่การบินไทยสูญเสียโอกาสจากการทำการบินซึ่งจะมีค่าเสียหายที่มากกว่า”

นายสุเมธกล่าวว่า ปีนี้มั่นใจว่าการบินไทยจะกลับมามีกำไร เนื่องจากในช่วงอีก 2 เดือนที่เหลือของไตรมาสแรกปีนี้การบินไทยจะกลับมาเก็บเกี่ยวรายได้เพิ่มได้ เพราะปัญหาข้อพิพาทระหว่างสหรัฐและอิหร่านยุติแล้ว ขณะที่การบินไทยสามารถซ่อมเครื่องยนต์โบอิ้ง 777-300ER จำนวน 10 ลำเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมกลับเข้าฝูงบินเส้นทางยุโรปได้ตามปกติแล้ว ส่วนปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรนาคาดว่าจะยุติได้ภายใน 3 เดือน ขณะที่สัดส่วนเที่ยวบินจีนของการบินไทยมีไม่มากจึงส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อย สำหรับแนวโน้มเคบินแฟกเตอร์ทั้งปีนี้คาดว่าจะขยายตัวในอัตราไม่ต่ำกว่า 80% ขณะที่ปีก่อนเพิ่มขึ้นในอัตรา 80%

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ การบินไทยพยายามเจราต่อรองค่าเสียหาย โดยการบินไทยเสนอขอชดเชย 9,759 ล้านบาท แต่จากการเจรจาล่าสุด ณ วันที่ 7 ต.ค. ปี 2562 โรลส์-รอยซ์ ยังคงยืนยันที่จะจ่ายชดเชยให้เพียง 1,825 ล้านบาท จึงทำให้การบินไทยต้องตัดสินใจฟ้องร้องในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน