ครม.เศรษฐกิจเล็งลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน-ยืดหนี้ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยว เผยนักท่องเที่ยวจีนหายวับสูญ 9.5 หมื่นล้านบาท

เล็งลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน – นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 1/2563 เห็นชอบมาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยแบ่งเป็น มาตรการระยะเร่งด่วน ได้แก่ การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและยืดระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้หรือดอกเบี้ย ระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว

การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน, การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงของอากาศยาน, การสนับสนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการจัดประชุมสัมมนาในพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และการหาตลาดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเพื่อทดแทนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกับการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ในส่วนมาตรการระยะยาว เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ การปรับปรุงบริการ การอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศไทย, การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพ และการบริการด้านการท่องเที่ยว, การสนับสนุน Charter Flight สำหรับนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการใช้จ่ายสูง และ การขยายเวลาเศรษฐกิจภาคกลางคืน นำร่องเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว (Zoning) คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563 เป็นต้นไป

“จากการประเมิน และเก็บข้อมูล พบว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาได้ส่งผลกระทบทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน ตั้งแต่ช่วงปัจจุบันถึงเดือนเม.ย. 2563 ลดลง 80% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายในขณะนี้ อยู่ที่ 9.5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าสถานการณ์ในภาคการท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้น หากจีนมีการยกเลิกคำสั่งการออกนอกประเทศภายใน 3 เดือน ซึ่งสถานการณ์ในภาคการท่องเที่ยวอาจจะไม่กลับมาดีในทันที คงใช้เวลาในการฟื้นตัว 1-2 เดือน”

ดังนั้นในช่วงเวลานี้ ไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้การท่องเที่ยวกลับมาเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยในปี 2563 ยังคงเป้าหมายมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 41.8 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยว 2.22 ล้านล้านบาท โดยยืนยันว่าหน่วยงานพร้อมทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อรักษาระดับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เติบโตได้ไม่น้อยกว่าปีก่อน และให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและแก้ไขโรคอุบัติใหม่ขึ้น โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุขเป็นประธาน ซึ่งจะมีหน้าที่ในการพิจารณามาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ ทั้งการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมป้องกัน ควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ของโรคติดต่ออุบัติใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อม และการยกระดับการท่องเที่ยวของไทยด้วย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการครม.เศรษฐกิจ กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะช่วยดูผลกระทบของสายการบิน โดยเฉพาะมาตรการทางภาษี โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป และขอให้ทำใจว่า ปัญหาไวรัส จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรก 3-6 เดือนแรกของปี








Advertisement

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ 3 เรื่อง คือ 1. วงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวในช่วง 3-4 เดือน จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ 2. มาตรการสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เดินทางไปจัดสัมมนาในต่างจังหวัด และนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนได้ 2 เท่า และ 3. มาตรการด้านภาษีน้ำมัน ช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบิน ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่กระทบกับการจัดเก็บรายได้ที่ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี 4. ยืดเวลายื่นแบบภาษีเงินได้ออกไป เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องในช่วงที่ได้รับผลกระทบท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีการเสนอ ครม.และหารืออีกครั้ง

“ยอมรับว่าจากเหตุการณ์ลักษณะนี้ จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 3-4 เดือนแล้วจะจึงจะทยอยกลับมา ดังนั้นระหว่างนี้ต้องมาดูวิธีการในการช่วงพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยให้ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม 5 ล้านราย และยังมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีก 10 ล้านคน จึงจำเป็นต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรไทยถึงจะผ่านจุดนี้ไปได้” นายกอบศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการหารือในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเกี่ยวกับแนวทางในการดูแลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาอีก 2 ครั้ง โดยอาจจะมีมาตรการคล้ายคลึงกับมาตรการไทยเที่ยวไทย มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว และการปลดล็อกแนวทางการช่วยเหลือต่างๆ ตามมาอีกในระยะต่อไป

แต่หากสถานการณ์ยังรุนแรง และลุกลาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีการตั้งคณะกรรมการดูแลด้านการท่องเที่ยว (Ease Of Traveling) โดยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีท่านใดทำหน้าที่เป็นประธาน และมี รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นรองประธาน โดยจะมีภาคเอกชนและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หารือเพื่อกำหนดแนวทางในการรับมือสถานการณ์ที่อาจจะรุนแรงขึ้น

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมพร้อมที่จะใช้มาตรการภาษีสรรพสามิตกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งหากมาตรการนี้ กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ขัดข้อง ก็พร้อมที่จะลดภาษีให้

ทั้งนี้ ถ้ามีการลดภาษี ก็จะเป็นการลดให้กับเที่ยวบินภายในประเทศเท่านั้น เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ และจะต้องเป็นมาตรการชั่วคราว ไม่ได้ลดภาษีช่วยตลอดไป และยืนยันว่ามาตรการนี้ไม่ได้เป็นปัญหาให้กับกรม เพราะปัจจุบันกรมจัดเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบินไม่มาก แค่ 1,000-2,000 ล้านบาทต่อปี ไม่ได้มีนัยยะสำคัญ แต่ถ้าเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวจริงๆ ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน