พาณิชย์ชงครม. 4 ก.พ.นี้ ไฟเขียว หน้ากากอนามัย-เจลล้างมือ เป็นสินค้าควบคุม – ชี้ถ้ากักตุน ขายเกินราคาเจอคุก

ชงหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เรื่องการกำหนดหน้ากากอนามัย/เจลล้างมือที่มีแอลกอฮอลล์เป็นส่วนผสมเป็นสินค้าควบคุม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้สินค้าทั้ง 2 ชนิด และวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเป็นสินค้าควบคุม โดยจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 4 ก.พ.นี้ โดยจะให้มีผลทันที ซึ่งจะทำให้สินค้าควบคุมเพิ่มจาก 52 รายการเป็น 54 รายการ

สำหรับมาตรการที่จะนำมาใช้หลังจากที่กำหนดให้เป็นสินค้าควบคุม ในเบื้องต้น ทำให้กรมการค้าภายใน (คน.) ในส่วนของหน้ากากอนามัย สามารถกำหนดให้ผู้ผลิต ตัวแทนจำหน่าย ผู้ส่งออกแจ้งต้นทุน ราคาซื้อขาย ปริมาณการผลิตปริมาณการส่งออก/นำเข้า สามารถกำหนดให้ตัวแทนจำหน่ายกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนได้ รวมทั้งสามารถกำหนดราคาซื้อขายปลีกได้ กำหนดให้ปิดราคาจำหน่ายที่ชัดเจนรวมทั้งกำหนดให้ผู้ส่งออกขออนุญาตจากกรมการค้าภายใน ในกรณีที่จะส่งออกหน้าหากอนามัยเกิน 500 ชิ้น โดยกรมฯ จะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป

ส่วนมาตรการที่จะนำมาใช้กับเจลล้างมือนั้นก็ใช้มาตรการเดียวกัน แต่ไม่ได้จำกัดเรื่องการส่งออก เพราะสินค้ายังผลผลิตเพียงพอกับความต้องการใช้เมื่อเทียบกับหน้ากากอนามัย และย้ำว่ามาตรการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการในระยะสั้นเท่านั้น

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับการจำกัดปริมาณการซื้อของประชาชนทั่วไปนั้น เบื้องต้นอาจกำหนดให้ซื้อได้ไม่เกิน 10 ชิ้นต่อคนต่อครั้ง หรือถ้าหากมีนักท่องเที่ยวเหมาซื้อหน้ากากอามัยหรือเจลล้างมือออกนอกประเทศปริมาณมากๆ ก็จะได้ประสานกับศุลกากรให้เข้มงวดกับการตรวจสอบมากขึ้น รวมทั้งประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ดูแลในเรื่องของคุณภาพของสินค้ามากขึ้นด้วย

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวว่า การที่กกร. กำหนดให้สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าควบคุม ก็จะทำให้กรมสามาถบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ได้ซึ่งกำหนดโทษไว้อย่างชัดเจน เช่น หากพบว่ามีการกักตุนสินค้าและฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และในกรณีที่ผู้บริโภค พบเห็นการฉวยโอกาสขึ้นราคาโดยไม่เป็นธรรม หรือพบเห็นผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สามารถร้องเรียนได้ทางสายด่วน 1569 หรือร้องเรียนได้โดยตรง ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายทันที เช่น ล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการกับร้านค้าย่านสำเพ็ง ที่จำหน่ายหน้ากากอนามัยแพงกว่าปกติ โดยพบว่าขายหน้ากากอนามัยแบบ N95 จากเดิม 60 บาทปรับเป็น 80 บาทต่อชิ้น โดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งได้สั่งฟ้องไปแล้ว

และขณะนี้สายด่วน 1569 ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับว่าไม่มีหน้ากากอนามัยจำหน่าย ถูกโก่งราคา กว่า 100 เรื่อง และยืนยันว่าจะลงพื้นที่ตรวจสอบดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างแน่นอน รวมทั้งการโก่งราคาจากผู้ค้าออนไลน์ หากพบเห็นก็สามารถแจ้งมายังสายด่วน 1569 ได้เช่นกัน

“ในเรื่องของการเอาผิดขอให้ประชาชนเข้าใจว่าราคาหน้ากากอนามัยมีหลายราคา ขึ้นอยู่กับวัสดุ คุณภาพทำให้ราคาแตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และกรมต้องหารือร่วมกับผู้ประกอบการอีกครั้งเพื่อชี้แจงถึงมาตรการที่ภาครัฐนำออกมาใช้” นายวิชัย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน