พาณิชย์เล่นยาแรงสั่งผู้ประกอบการรายงานสต๊อก-ต้นทุนสกัดส่งออกเกิน 500 ชิ้น ต้องขออนุญาต ด้านเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือผลิตขายในประเทศเต็มที่แต่ขอให้เห็นใจเพราะบางรายทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอาจเสียลูกค้าต่างประเทศ ระบุที่ผ่านมามีผู้นำเข้าจากจีนตีตลาดไทยเจ๊งไปหลายราย

พาณิชย์คุมส่งออกหน้ากากอนามัย – นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวว่า หลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ขอความเห็นชอบให้ 1. หน้ากากอนามัย 2. วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย (สปันบอนด์) และ 3. เจลล้างมือ เป็นสินค้าควบคุม กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กำหนดมาตรการให้ผู้ผลิตผู้จำหน่าย หรือผู้จัดจำหน่าย และผู้ที่นำเข้าผู้ที่ส่งออกแจ้งข้อมูลการผลิต ต้นทุนการผลิต การครอบครอง การจำหน่าย ในส่วนการกระจายสินค้าสามารถเข้าไปดำเนินการได้ว่าผู้ผลิตจะต้องส่งไปที่ไหนอย่างไรเพื่อให้สินค้าได้กระจายไม่ไปกระทบที่ใดที่หนึ่ง

โดยกระทรวงจะให้ความสำคัญกับการกระจายสินค้าให้กับกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องใช้ก่อน ซึ่งอาจประสานไปยังโรงงานให้มีการส่งสินค้าไปโดยตรงให้กับคนกลุ่มนี้ โดยผ่านเครือข่ายร้านธงฟ้า เช่น โรงพยาบาล ผู้ป่วย เป็นต้น

ส่วนการส่งออกกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องมาขออนุญาตกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อควบคุมปริมาณการส่งออก โดยหากส่งออกเกิน 500 ชิ้น ต้องขออนุญาตส่งออกหรือขออนุญาตเคลื่อนย้ายออกนอกราชอาณาจักรโดยต้องแจ้งภายใน 6 ก.พ. นี้ และการติดป้ายแสดงราคาจำหน่ายรวมทั้งการที่จะต้องขายให้ตรงกับราคาที่ติดไว้ รวมทั้งขอความร่วมมือให้ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ที่จำหน่ายหน้ากากอนามัยจำกัดการขายไม่เกิน 10 ชิ้นต่อคน เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของสินค้าป้องกันการกักตุนสินค้า

นายวิชัย กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์หน้ากากอนามัยของไทยมีแนวโน้มความต้องการใช้ในประเทศพุ่งสูงขึ้นจาก 30 ล้านชิ้น เป็น 50 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งขณะนี้โรงงานผู้ผลิตก็เพิ่มกำลังการผลิตเต็มกำลังความสามารถแล้ว โดยกำลังการผลิตตามปกติประมาณ 300 ล้านชิ้นต่อปี แต่ขณะนี้มีคำสั่งซื้อมาเกิน 600 ล้านชิ้น ขณะที่การส่งออกก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกันคือในปี 2561 ส่งออก 71 ล้านชิ้น ในปี 2562 ส่งออก 226 ล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้นถึง 200% ประเทศที่นำเข้าหลัก เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เป็นต้น ทำให้ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ต้องให้ความสำคัญกับผู้บริโภคภายในประเทศก่อน หากผู้ประกอบการขออนุญาตส่งออกในปริมาณที่อาจกระทบต่อความต้องการใช้ของคนในประเทศก็จะไม่อนุญาตให้ส่งออก แม้ว่าจะมีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยกระทรวงพาณิชย์จะยึดกฎหมายตามอำนาจของกกร.เป็นหลัก

ทั้งนี้ หากประชาชนพบพฤติกรรมกักตุนสินค้า ขายเกินราคา ไม่ปิดป้ายแสดงราคา สามารถแจ้งสายด่วน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้มีการร้องเรียนเข้ามาแล้ว 1,000 ราย ส่วนใหญ่จะร้องเรียนเรื่อง ขายแพงเกินจริง ไม่ปิดป้ายแสดงราคา จำหน่ายไม่ตรงกับราคาที่แจ้ง สินค้าขาดแคลน เป็นต้น ซึ่งกรมได้สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ออกหน่วยเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ไปตรวจสอบแล้ว ทั่วประเทศ และจะรายงานผลเป็น ระยะๆ ซึ่งยืนยันว่าจะบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจที่มีอยู่อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ จากการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ขอแจ้งให้ประชาชนได้ทราบว่า นอกจากการใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อแล้ว ก็ควรล้างมือบ่อยๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เจลที่มีส่วนผสมของแอลกอฮออล์ แต่สามารถใช้สบู่เพื่อทำความสะอาดก็ได้ ส่วนหน้ากากก็สามารถใช้แบบผ้าที่ซักใช้ซ้ำได้ เช่นกัน

ด้านนายนพร เกษจรัล กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็น.เอ็น. สกายเทรด จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันโรงงานมีกำลังการผลิต 2-3 แสนชิ้นต่อเดือน ซึ่งถือว่าผลิตเต็มที่แล้ว โดยสินค้า 100% จะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเท่านั้น การที่ภาครัฐมีคำสั่งจำกัดการส่งออกจึงไม่มีผลต่อบริษัท แต่ที่น่าเป็นห่วงคือโรงงานที่ผลิตเพื่อการส่งออกหรือมีสัดส่วนการส่งออกในปริมาณที่สูง หากมีคำสั่งซื้อ ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไปแล้วหากถูกจำกัดการส่งออกก็อาจประทบต่อยอดขายได้ ซึ่งมองว่าภาครัฐควรดำเนินการให้รอบคอบที่สุด เพราะการส่งออกสินค้าหรือการจำหน่ายสินค้าของแต่ละบริษัทได้มีการคิดวางแผนกันล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้นภาครัฐควรเข้าใจและเห็นใจผู้ประกอบการที่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัสโคโรนา แต่ให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้ประกอบการหรือพ่อค้าคนกลางที่ฉวยโอกาสโก่งราคา กว้านซื้อหน้ากากอนามัยไปกักตุนเพื่อขายทำกำไรมากเกินจริงเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไร้คุณธรรม

ส่วนผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกที่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีสัญญาซื้อขายไปแล้วก็ไม่ควรจำกัดการส่งออกจนกระทบยอดส่งออก เนื่องจากสินค้าหน้ากากอนามัยไม่ได้เป็นสินค้าที่ขายดีทั้งปี ที่ผ่านมา เท่าที่ได้หารือกันในกลุ่มผู้ประกอบการก็พบว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีสต๊อกมากนักเพราะขายไม่ออก ผู้ผลิตบางรายถึงขั้นต้องปิดโรงงาน มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนซึ่งราคาต่ำกว่าหน้ากากอนามัยของไทย

“ยืนยันว่าผู้ผลิตพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐด้วยการผลิตสินค้าเต็มกำลังการผลิต ไม่ได้โก่งราคาจำหน่ายเพราะเราขายส่งครั้งละกว่าล้านชิ้นตกชิ้นละประมาณ 1 บาท แต่ที่มีปัญหาราคาแพงเพราะพ่อค้าคนกลางนำไปขายต่อและบวกกำไรเพิ่มเพื่อฟันกำไร บางรายก็มาบุกโรงงานเพื่อขอซื้อ เมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งไปว่าไม่สามาถขายปลีกให้ได้ก็โวยวายไม่พอใจหากว่าโรงงานเอาเปรียบ ซึ่งไม่ใช่ความจริงเพราะโรงงานจะขายเป็นตู้คอนเทนเนอร์ให้กับผู้จำหน่าย เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ เป็นล็อตๆ ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐเข้มงวดในการดำเนินการตามกฎหมายกับกลุ่มคนเหล่านี้” นายนพร กล่าว

ส่วนวัตุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยส่วนใหญ่นำเข้ามาจากจีนก็ยังมีเพียงพอใช้นาน 3-4 เดือน และขณะนี้ท่าเรือต่างๆ ของจีนก็น่าจะเริ่มเปิดทำการก็น่าจะทำให้ไม่เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและคาดว่าหลังจากควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาได้สถานการณ์ก็จะกลับสู่ภาวะปกติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน