นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีของกรมศุลกากร เดือนม.ค. 2563 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ระบาดของโรคโคโรนา ทำให้จีนลดกำลังการผลิต หยุดกิจการนำเข้า-ส่งออกบางส่วน ทำให้ผลกระทบส่งมาถึงการนำเข้าสินค้าของไทยด้วย แต่ก็เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะมีผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น เมื่อสถานการณ์คลี่คลายการทำธุรกรรมต่างๆ ก็จะกลับเข้าสู่เป็นปกติ ดังนั้นจึงยังไม่จำเป็นต้องปรับเป้าการจัดเก็บภาษีศุลกากรปีงบประมาณ 2563 ที่ตั้งไว้ที่ 1.11 แสนล้านบาทแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาด้านศุลกากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รองรับการทำธุรกรรมในอนาคตหากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ กรมจึงได้ดำเนิน 5 มาตรการทางศุลกากร เพื่อยกอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยด้านการค้าระหว่างประเทศ หรือ Doing Business ได้แก่ กระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึงสำหรับของนำเข้า เพื่อความรวดเร็วสามารถตรวจสอบได้ทันทีเมื่อสินค้ามาถึง, การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดการขนส่งเงินและเช็ค ทำให้ลดเวลา 3 ชั่วโมงต่อครั้ง หรือ 3.5 ล้านชั่วโมงต่อปี และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับกรมศุลกากร 433.74 บาทต่อครั้ง หรือ 513 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถสั่งพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเสียเวลามารับใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากร

รวมถึงการไม่เรียก-ไม่รับสำเนาใบขนสินค้าที่มีในระบบ e-Customs เนื่องจากใบขนอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมศุลอยู่แล้ว, มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพแฟ้มบริหารความเสี่ยงเพื่อลดอัตราการเปิดตรวจ เป็นการคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และลดอัตราการเปิดตรวจ ส่งผลให้อัตราการเปิดตรวจโดยเฉพาะสินค้าประเภทชิ้นส่วนรถยนต์ ลดลงจาก 37% เหลือ 26%, และสุดท้ายระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอ็กเรย์แบบขับผ่าน สามารถเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าได้ 150 ตู้ต่อชั่วโมง ซึ่งมากกว่า X-Ray แบบ Fixed ที่เอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าได้ 30 ตู้ต่อชั่วโมง คิดเป็น 5 เท่า เชื่อว่าทั้ง 5 มาตรการจะส่งเสริมให้อันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ ของประเทศไทยดีขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน