นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนผู้ส่งออกสินค้าหน้ากากอนามัย ว่า หลังจากมีการออกมาตรการดูแลสินค้าหน้ากากอนามัย ตามบัญชีสินค้าและบริการควบคุม ในส่วนของการส่งออก ที่กำหนดให้ต้องขออนุญาต หากส่งออกเกิน 500 ชิ้น ซึ่งหมายความว่าการส่งออกหน้ากากอนามัยแบบปกติทั่วไป จะไม่อนุญาตให้ส่งออกทุกกรณี ซึ่งผู้ส่งออก มีข้อเสนอหากยื่นขออนุญาตไปจำนวน 5 แสนชิ้น จะขอส่งออกเพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือจะจัดสรรไปยังศูนย์กระจายสินค้าของกรมการค้าภายใน เพื่อมากระจายในประเทศ รวมทั้งขอผ่อนผันการส่งออกหน้ากากอนามัยลักษณะเฉพาะ เช่น ใช้ทางการแพทย์ และการป้องกันสารเคมี ซึ่งไม่ได้ใช้ในประเทศไทย โดยล่าสุด มีการอนุญาตส่งออกรวมกันสูงถึง 21 ล้านชิ้น ซึ่งทางกรมการค้าภายใน ยืนยันยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ส่งออกแม้แต่ชิ้นเดียว

“หน้ากากอนามัยแบบธรรมดาในประเทศมีความต้องการใช้จำนวนมาก และปริมาณรวมกันถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตสูงสุดเดือนละ 35 ล้านชิ้น ขณะเดียวกันทุกประเทศจึงระงับการส่งออก และหากยังปล่อยให้ส่งออก อาจจะเกิดปัญหาขาดแคลนได้ทั้งนี้ เบื้องต้นได้กำหนดเงื่อนไขจะต้องผลิตหน้ากากอนามัยให้ใช้เพียงพอกับในประเทศก่อน”

โดยกรมการค้าภายใน จะพิจารณาทุกประเด็นที่ผู้ส่งออกเสนออีกครั้ง แต่เบื้องต้นได้กำหนดเงื่อนไขให้ จะต้องผลิตหน้ากากอนามัยแบบที่ใช้ในประเทศมาชดเชยในปริมาณเท่ากับที่ส่งออกไป เพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าในประเทศ รวมทั้งการกำหนดให้ผู้ผลิต-ผู้ค้าและผู้ส่งออก ต้องแจ้งสต๊อกสินค้าภายในวันศุกร์ที่ 14 ก.พ. หากรายได้ยังไม่ดำเนินการตามกำหนด จะเข้าไปตรวจสอบทันที

ส่วนการจัดสรรหน้ากากอนามัยจากผู้ผลิตมาที่ศูนย์กระจายสินค้าของกรมการค้าภายใน จะเพิ่มการจัดสรรให้โรงพยาบาลมากขึ้น จากเดิมที่จะมีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศบางส่วน เพราะหลายประเทศหยุดการส่งออกจึงทำให้หลายโรงพยาบาลขาดแคลนบ้าง แต่ในส่วนของโรงงานที่ผลิต ป้อนให้กับโรงพยาบาลโดยตรง ก็ยังดำเนินการเหมือนเดิม โดยกรมการค้าภายในไม่ได้เข้าไปบริหารจัดการในส่วนนั้นแต่เข้าใจว่าโรงงานที่ผลิตป้อนให้กับโรงพยาบาลโดยตรง ก็ยังดำเนินการเหมือนเดิมและกรมยังคงติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน