นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปี (2563-67) กลุ่มปตท. มีแผนลงทุนต่อเนื่องประมาณ 2 แสนล้านบาท ตามแนวนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเร่งรัดให้มีการลงทุนในประเทศ โดยบริษัทจะเน้นโครงการด้านพลังงานสะอาดในไทย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง เช่น ไทยออยล์ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพลังงานสะอาดในการเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นด้วยการยกระดับน้ำมันเตาเป็นน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันดีเซล

สำหรับ ปตท. ได้ดำเนินการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติ และคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ให้เกิดความมั่นคงของเชื้อเพลิงรองรับการใช้ผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม และยังมีโครงการหน่วยแยกอากาศ โดยใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากแอลเอ็นจีในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มและเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่องจากการที่ปตท. เข้าร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 และยังรอความชัดเจนในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3

“ขณะนี้การลงทุนด้านพลังงานสะอาดอยู่ระหว่างก่อสร้าง ใช้เงินลงทุนเกือบ 2 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี ส่วนทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในการลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งนั้น กลุ่มปตท. จะเปลี่ยนเม็ดพลาสติกที่ผลิตได้ในปัจจุบันเป็นเม็ดพลาสติกที่มีคุณภาพและใช้ประโยชน์ได้นาน เป็นเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษมากขึ้น และการผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อรองรับการประหยัดพลังงาน”

นอกจากนี้ ยังเตรีมแผนรองรับการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การลงทุนผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง การเข้าซื้อกิจการ รวมถึงการลงทุนส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยให้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ไปลงทุนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาคลังสินค้า โรงงานหรือสถานีบริการน้ำมัน รวมถึงส่งเสริมให้มีสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องการให้กระทรวงพลังงานเร่งเจรจากับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้เกิดการขายไฟฟ้าเฉพาะพื้นที่รองรับการขายไฟฟ้าให้รถยนต์ไฟฟ้าโดยเร็ว

นายชาญศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มปตท. ยังเสนอข้อกังวลสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาวโดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ แม้ในระยะสั้นปีนี้เชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมน่าจะผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าวไปได้ เพราะเบื้องต้นมีการเชื่อมท่อรองรับการผันน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการอุตสาหกรรมในพื้นที่จ.จันทบุรี มาให้จ.ระยอง แต่ระยะยาวเห็นว่าควรจะเปิดประมูลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) เพื่อให้เอกชนผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน