เปิดไทม์ไลน์‘ตลาดหุ้นไทย’ ดิ่งหลุดพันจุด-ก่อนดีดกลับ

รายงานพิเศษ

เปิดไทม์ไลน์‘ตลาดหุ้นไทย’ ดิ่งหลุดพันจุด-ก่อนดีดกลับ : รายงานพิเศษ อุบัติการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ทั้งเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจ

หนำซ้ำยังถูกผสมโรงด้วยสงครามน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบีย กับรัสเซียและสหรัฐ เพราะตกลงกันไม่ได้เรื่องลดกำลังการผลิตน้ำมันลง ทำให้เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2563 ราคาน้ำมันในตลาดโลกดำดิ่งชนิดทุบสถิติในรอบหลายสิบปี มาอยู่ที่ 32.29 ดอลลาร์/บาร์เรล

หลังจากนั้นในวันที่ 18 มี.ค. ราคาน้ำมันดิ่งลงต่อมาแตะระดับ 22.65 ดอลลาร์/บาร์เรล จากความวิตกที่ว่าการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกประสบภาวะถดถอย

ดัชนีชี้วัดอีกหนึ่งตัวที่มักจะถูกเอ่ยอ้างถึงไม่พ้น ‘ตลาดหุ้น’ ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ในแนวลบอย่างรุนแรง

ตลาดหุ้นไทยก็ไม่พ้นวิกฤตดังกล่าว เพราะโดนกระหน่ำทั้งจากไวรัส และราคาน้ำมัน

นับเฉพาะช่วงปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งโควิด-19 เริ่มระบาดรุนแรงขึ้น

วันที่ 26 ก.พ. ปิดตลาดดัชนีปรับลดลงถึง -72 จุด หรือลบ 5.32% อยู่ที่ระดับ 1,366.41 จุด ถือเป็นดัชนีปรับลดลงมากสุดในรอบกว่า 13 ปี นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2549 ซึ่งดัชนีปรับลดลงในวันเดียว 99.71 จุด

ดัชนีในวันนั้นถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี เนื่องจากรับจิตวิทยา เชิงลบ จากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

ล่วงเข้าวันที่ 9 มี.ค. เปิดการซื้อขายภาคเช้าดัชนีทรุดตัวลงทันทีและปิดภาคเช้าลดลงกว่า 90 จุด เป็นผลจากราคาน้ำมันตลาดโลกดิ่งลงกว่า 30%

อีกทั้งตลาดหุ้นไทยมีน้ำหนักของหุ้นในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานค่อนข้างมาก และดัชนีปิดตลาดของวันปรับตัวลง 108.63 จุด หรือลบ -7.96% โดยดัชนีปิดที่ระดับ 1,255.94 จุด ต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่เดือนม.ค. 2559

อย่างไรก็ดีมาตรการหยุดการซื้อขายชั่วคราว หรือเซอร์กิต เบรกเกอร์ยังไม่ทำงาน เนื่องจากดัชนีหุ้นยังปรับลดลงไม่ถึงเกณฑ์ 10% แต่ทั้งนี้มีหุ้นบางตัวต้วถูกพักการซื้อขายเนื่องจากราคาหุ้นร่วงลง 30% เข้าข่ายราคาหุ้นร้อนแรงเกินเพดานที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด หรือซิลลิ่งฟลอร์ ราคาหุ้นบวกลบ 30% ต้องถูกพักการซื้อขาย

แต่แล้วอีกเพียง 3 วันถัดมา นักลงทุนต้องช็อกไปตามๆ กัน เมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งหยุดทําการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว หรือ ‘เซอร์กิตเบรกเกอร์’ 30 นาที หลังจากดัชนีปรับตัวลดลง 125.05 จุด คิดเป็น 10% จากดัชนีราคาปิดวันทําการก่อนหน้า

ในวันเดียวกันดัชนีปรับตัวลดลง 134.98 จุด หรือลบ -10.80% ดัชนีอยู่ที่ 1,114.91 จุด ต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี นับจากจุดต่ำสุดเดิมที่ 1,099 จุด เมื่อเดือนมิ.ย. 2555

วันรุ่งขึ้นสถานการณ์ยิ่งแย่ลงอีก เพราะทันทีที่เปิดซื้อขาย ในวันที่ 13 มี.ค. ดัชนีราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 111.52 จุด คิดเป็น 10% จากดัชนีราคาปิดวันทำการก่อนหน้า มาอยู่ที่ 991.93 จุด ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องประกาศเซอร์กิตเบรกเกอร์ เป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้

ไม่เพียงแต่ตลาดหุ้นไทยที่ต้องเผชิญแรงขายอย่างหนักเพียงตลาดเดียว แต่เป็นกันทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย ทยอยปรับปรุงเกณฑ์การซื้อขายต่างๆ โดยบังคับใช้เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 30 มิ.ย. 2563 เพื่อลดความผันผวน ของราคาหุ้น

เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงเกณฑ์การขาย Short Sell โดยกำหนดให้ Short Sell หุ้นเฉพาะราคาสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Up Tick) ช่วยพยุงให้ราคาหุ้นปรับฐานไม่เร่งตัวเร็วเท่าอดีต ที่ผ่านมา

ต่อมาได้ปรับเกณฑ์การหยุดซื้อขายหุ้นชั่วคราว หากดัชนีปรับลดลง 8% จะหยุดซื้อขาย 30 นาที, หากลดลงอีก 15% จะหยุดซื้อขาย 30 นาที และในวันเดียวกันดัชนียังลดลงอีก 20% จะหยุดซื้อขาย 60 นาที หลังจากนั้นจะเปิดซื้อขายต่อจนถึงสิ้นวัน

รวมถึงปรับเกณฑ์ราคาซื้อขายสูงสุด-ต่ำสุดในแต่ละวัน (ฟลอร์-ซิลลิ่ง) เหลือบวกลบ 15% จากเดิมที่บวกลบ +/- 30%

อย่างไรก็ดีการปรับปรุงเกณฑ์ต่างๆ ของตลาดสามารถทำงานได้ค่อนข้างดี ประกอบมีหลายบริษัทจดทะเบียนได้ทยอยซื้อหุ้นคืน ทำให้ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาลดความผันผวนของดัชนีได้พอสมควร

ประกอบกับภาครัฐก็ได้ออกมาตรการเพื่อพยุงตลาดหุ้น ด้วยการสนับสนุนการตั้งกองทุนเพื่อการออมระยะยาว (SSF) เงื่อนไขพิเศษ คล้ายกับกองทุน LTF แต่มีระยะเวลาการถือครอง 10 ปี โดยเริ่มจำหน่ายหน่วยลงทุนในเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2563

อย่างไรก็ตาม หลังจากหุ้นปิดในแนวลบมาหลายวัน กระทั่งศุกร์ที่ 20 มี.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์ มีแรงซื้อกลับเข้ามาเพื่อทำกำไร ทำให้ปิดตลาดในแดนบวกที่ 1,127.24 จุด เพิ่มขึ้น 83.05 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉียดๆ 1 แสนล้านบาท

นายอิศรา พุฒตาลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด (บลจ.วี) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของทั้งโลก แต่สถานการณ์ในประเทศจีนนั้นดีขึ้น ทำให้การดำเนินธุรกิจในประเทศจีนเริ่มกลับมา เห็นได้จากการเดินทางของคนและตัวเลขการใช้ถ่านหินที่สูงขึ้น

อิศรา พุฒตาลศรี

คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะกลับมาดำเนินได้ใน ระดับปกติช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกับจีนเช่นไทย

ขณะเดียวกันการดำเนินมาตรการของธนาคารกลางหลายประเทศในตอนนี้ทั้ง สหรัฐ, ยุโรป, จีน และญี่ปุ่น ใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย (คิวอี) ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการอัดฉีดเงินเพิ่มสภาพคล่องแก่ระบบเศรษฐกิจ

เป็นปัจจัยสนับสนุนภาคการผลิตให้ ฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลบวกแก่ภาคการลงทุนและการบริโภค

รวมไปถึงทำให้มีกระแสเงินลงทุนเพิ่มขึ้นในระบบเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งของไทยในระยะ ต่อไป ลดความเป็นไปได้ที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

แม้ธนาคารกลางในหลายประเทศมีความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายค่อนข้างจำกัด แต่การ กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไปจะดำเนินผ่านนโยบายทางการคลังเป็นหลัก

ส่วนประเทศไทยนโยบายรับมือผลกระทบ ในระยะสั้นของรัฐบาล ผ่านมาตรการทางการเงินด้วยการผ่อนผันภาระทางด้านการเงินให้แก่ ผู้ประกอบการ และลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดภาระในการจ่ายชำระหนี้ของ ผู้ประกอบการ

รวมถึงใช้มาตรการทางภาษี ด้วยการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการในประเทศเพื่อให้ ผู้ประกอบการสามารถคงระดับอัตราการจ้างงานได้

คาดว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นและบรรเทาผลกระทบในระยะสั้นออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมไปถึงการบริโภคในประเทศ

ขณะที่ภาวะตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างมากจนมีระดับราคาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ของตลาดอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.14 เท่า

ในอดีต 10 ปีย้อนหลังพบว่าเมื่อ P/BV ไปถึงระดับ 1.66 เท่า ดัชนีมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นจากระดับปัจจุบันประมาณ 20-40% ในช่วงระยะเวลา 1 ปีถัดไป

นอกจากนี้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นเมื่อเทียบพันธบัตรรัฐบาล (Earnings Yield Gap) อยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 4 ปี สะท้อนว่ามีโอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวของผลประกอบการ

ดังนั้นด้วยปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและระดับราคาหุ้นที่น่าสนใจ มองว่าโอกาสสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวถึงแนวคิดการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นของรัฐบาล โดยคาดว่าจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 24 มี.ค. เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุน

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม

รัฐบาลระบุว่าการระดมทุนจะไม่ได้มาจากภาษีของประชาชน แต่อาจระดมเงินทุนจัดตั้งกองทุนใหม่หรือใช้กองทุนวายุภักษ์เดิมแล้วเพิ่มเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท ขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนสถาบันและรายย่อย เน้นลงทุนในหุ้น SET50 และ SET100

อย่างไรก็ดีมองว่าหากกลับไปดูในช่วงการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ พบว่าในปี 2535 และปี 2546 จัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และ 1 แสนล้านบาท สามารถช่วยหนุนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในช่วง 3 เดือน หลังจากจัดตั้งกองทุนในอัตรา 16.7% และ 20% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าตามราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ราว 12 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าอดีตในช่วงปีดังกล่าวที่มาร์เก็ตแคปอยู่ใน 1-2 ล้านล้านบาท ค่อนข้างมาก

ดังนั้นหากจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นด้วยเม็ดเงินที่เท่ากับปี 2535 คือ 1 แสนล้านบาท อาจมีประสิทธิภาพในการพยุงตลาดหุ้น ได้ไม่มากนัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน