พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จากการที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. ได้หารือกับนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อหามาตรการเร่งด่วน หลีกเลี่ยงการสัมผัสเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา

และในวันที่ 23 มี.ค.ที่ประชุม กสทช. ได้นัดประชุมวาระพิเศษเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือประชาชนทุกระดับ โดยมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ โดยการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานผ่านอินเตอร์เน็ตเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อไป ดังนี้ มาตรการที่ 1 สนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) เพิ่ม 10 GB (กิกกะไบต์) ต่อคนต่อเดือนให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน

โดยผู้ใช้บริการ 1 คนจะได้รับการสนับสนุน 1 เลขหมาย ต่อ 1 ผู้ให้บริการ เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยใช้ฐานลูกค้าที่มีผู้ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน และประชาชนจะสามารถรับสิทธิได้ด้วยการลงทะเบียนผ่านของผู้ให้บริการที่ใช้งานอยู่ คาดว่าจะสามารถสนับสนุนประชาชนให้เข้าร่วมมาตรการนี้ประมาณ 50 ล้านเลขหมาย คาดใช้เม็ดเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท เดือนละประมาณ 3,500 ล้านบาท อย่างไรก็ดี กสทช. จะเจรจากับผู้ประกอบการให้ได้อัตราค่าบริการที่ถูกที่สุด งบประมาณส่วนนี้จะขอความเห็นชอบครม. ให้หักจากวงเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ประมูลได้

ส่วนมาตรการที่ 2 สนับสนุนการจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยปรับเพิ่มขนาดความจุ (Capacity) เท่าที่ผู้ให้บริการจะสามารถดำเนินการได้ กล่าวคือ กรณีบริการ ADSL/VDSL/Copper ให้ปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้ และกรณีบริการ FTTX ให้ได้ระดับความเร็ว (Download) 100 Mbps เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บรอดแบนด์ประจำที่อยู่ที่ 8 ล้านครัวเรือน โดย กสทช. จะใช้เงินจากเงินที่ต้องนำส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 730 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน