พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เชิญสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เข้าพบเพื่อหารือถึงสถานการณ์อาหารสัตว์ และผลผลิตที่ต้องการใช้ในแต่ละปี พบว่าในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ขระนี้ใช้ข้าวโพดปีละประมาณฯ 7-8 ล้านตัน ซึ่งประมาณ 50% ปลูกในพื้นที่ที่ถูกต้อง และอีกประมาณ 3-4 ล้านตัน เป็นการบุกรุกป่าเพื่อเพาะปลูก กระทรวงเกษตรฯ จึงต้องการทำข้าวโพดตามปริมาณที่ผู้ซื้อต้องการมาสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกในช่วงหลังนา เพื่อให้การเพาะปลูกถูกต้องตามกฏหมาย

ดังนั้นในวันที่ 19 มิ.ย. จะหารือกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้รับซื้อข้าวโพด และเกษตรกรผู้สมัครใจปลูกข้าวโพด หลังนาเพื่อขายให้เอกชนผู้รับซื้อผลิตอาหารสัตว์ที่ใช้ในประเทศ และส่งออก เพื่อเป้าหมายลดพื้นที่บุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพด หากคุยวิธีการ กำหนดราคาแล้วเสร็จ จะร่วมกันบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กันต่อไป

ทั้งนี้ ตามแผนการผลิตข้าวปี 2560/61 เพื่อลดพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรฯ กำหนดมาตรการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดฤดูแล้งหลังนาทดแทนการปลูกในพื้นที่ไม่ถูกต้อง โดยการปลูกข้าวโพด เป้าหมายระยะแรกปลูกบนพื้นที่ 3.36 ล้านไร่

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า สมาคมนำสมาชิกมาพบ พล.อ.ฉัตรชัย เพื่อร่วมกันทำงานลดพื้นที่บุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพดในพื้นที่ไม่เหมาะสม ในฐานะสมาคมเป็นผู้ใช้ข้าวโพดในการผลิตอาหารสัตว์ ที่ปี 2560 คาดว่าจะมีความต้องการเติบโตประมาณประมาณ 5.4% หรือ 19.64 ล้านตัน จากปี 2559 มีปริมาณการใช้จำนวน 18.63 ล้านตัน มีการใช้ข้าวโพด ผลิตภัณฑ์ข้าว มันสำประหลัง และข้าวสาลีประมาณ 59% ของวัตถุดิบทั้งหมด ปกติผลผลิตข้าวโพดในประเทศก็ไม่พอเพียง ขาดแคลน หากรัฐบาลต้องการลดพื้นที่ปลูก ลดพื้นที่ผิดกฏหมาย ผลผลิตจะหายไปจากตลาดทันทีประมาณ 5.9 ล้านตัน

สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในประเทศไทยมีจำนวน 7.84 ล้านไร่ แบ่งเป็น ปลูกในพื้นที่เหมาะสมสูง 0.91 ล้านไร่ ปลูกในพื้นที่เหมาะสมปานกลาง 0.99 ล้านไร่ ปลูกในพื้ที่เหมาะสมน้อย 1.32 ล้านำร่ ส่วนการปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมจำนวน 0.89 ล้านไร่ และปลูกในที่ป่าผิดกฏหมาย 3.72 ล้านไร่ หากต้องการทำให้ถูกกฏหมาย จำเป็นต้องยกเลิกการปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมและพื้นที่ป่า จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวโพดเพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารสัตว์ลดลง และจะส่งผลให้เกิดความตึงตัวของวัตถุดิบในการป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

“จากนี้ต่อไปอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ต้องปรับตัว หากรัฐบาลจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องของการยกเลิกปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า พื้นที่ผิดกฏหมาย ผลผลิตจะลดลงทันทีประมาณ 5.9 ล้านตัน ส่วนเรื่องของราคาอาหารสัตว์หากไม่ต้องการให้สูงขึ้น จะต้องบูรณาการการทำงานในรูปของประชารัฐ ทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ และพ่อค้าที่ขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ถือว่าทุกหน่วยเป็นกลจักรสำคัญในการทำเรื่องลดพื้นที่ปลูกว่าจะได้ผลหรือไม่ รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ก็ต้องมีการดูแลในเรื่องของราคาต้นทางของเมล็ดพันธุ์ด้วย เพื่อควบคุมราคา ดังนั้นเรื่องนี้ทำปีเดียวไม่น่าจะทำได้ อย่างน้อยน่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี กว่าผลผลิตจะกลับมาสู่สมดุล โดยไม่บุกรุกป่า”นายพรศิลป์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน