กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาเอสเอ็มอี เดินหน้า “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” เร่งให้การช่วยเหลือเอสเอ็มอีครอบคลุมทุกมิติอย่างสมดุลตามแนวประชารัฐ พร้อมการสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายใน (Local Economy) ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ตลาด การขับเคลื่อนผลงานนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต การเติมองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ให้ก้าวไปสู่ Smart SMEs และการส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลเชื่อมโยงสู่โลกการค้าสมัยใหม่

รวมทั้งการสนับสนุนด้านการเงินผ่านกองทุนต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างครบวงจรในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมพาสื่อมวลชนเยี่ยมผู้ประกอบการในพื้นที่ ที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้ว เพื่อทราบถึงความคืบหน้า ปัญหา และแนวทางการพัฒนาของกิจการ

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 โดยผลักดันการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจากการ “เพิ่มมูลค่า” ไปสู่การ “สร้างมูลค่า” และการสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายใน (Local economy) ด้วยการเร่งพัฒนาเอสเอ็มอีและเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง โดยการขยายการให้บริการอย่างทั่วถึงครอบคลุมทุกมิติอย่างสมดุล

ทั้งการต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ตรงความต้องการของตลาดเพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ การขับเคลื่อนผลงานนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต การพัฒนาผู้ประกอบการโดยการเติมองค์ความรู้ในการเพิ่มผลิตภาพและมาตรฐาน การพัฒนาระบบบริหารจัดการ การบัญชีและการเงินให้ก้าวสู่ SMART SMEs พร้อมส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงสู่โลกการค้าสมัยใหม่ โดยมีศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการภายใต้กลไกประชารัฐ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเล็งเห็นความสำคัญด้านเงินทุน ที่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเพิ่มศักยภาพให้เอสเอ็มอี จึงมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีในรูปแบบกองทุนต่าง ๆ ได้แก่ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงิน 1,000 ล้านบาท และมาตรการฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือเงินทุน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินให้กับเอสเอ็มอีมีเงินทุนนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าสู่แหล่งเงินในระบบทุนได้

สำหรับการลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่นี้นับเป็นครั้งที่ 2 โดยมุ่งเน้นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในนโยบายการสนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีในด้านต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งภาคเหนือตอนบนที่ประกอบไปด้วย 8 จังหวัด มีจำนวนเอสเอ็มอีมากถึง 296,691 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.72 ของจำนวนเอสเอ็มอีทั้งประเทศ มีการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งหมด 776,115 คน คิดเป็นร้อยละ 7.21 ของการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งประเทศ จึงนับได้ว่าภาคเหนือตอนบนเป็นพื้นที่สำคัญในการส่งเสริมเอสเอ็มอีในระดับภูมิภาค

ดังนั้น เพื่อให้เอสเอ็มอีในภาคเหนือตอนบนสามารถเพิ่มศักยภาพได้ตามสภาพปัญหาและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือตามนโยบายของรัฐบาลให้บรรลุผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง กระทรวงอุตสาหกรรม จึงร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือในด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรอบด้าน รวมทั้ง มาตรการด้านการเงินต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของกองทุนที่ให้บริการแก่เอสเอ็มอีภาคเหนือตอนบนในขณะนี้ดำเนินการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว ดังนี้

ลำดับ โครงการ ภาคเหนือตอนบน 1-2

1 กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาท ผปก. 18 ราย วงเงินที่อนุมัติ 58,700,000

2 โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท ผปก. 43 ราย วงเงินที่อนุมัติ 110,950,000

3 โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงิน 1,000 ล้านบาท และมาตรการฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมวงเงิน 2,000 ล้านบาท ผปก. 34 ราย วงเงินที่อนุมัติ 27,450,000

รวม ผปก. 95 ราย วงเงินที่อนุมัติ 197,100,000

โดยในส่วนของเอสเอ็มอีในภาคเหนือตอนบนที่ยื่นคำขอรับสินเชื่อ ณ ขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 700-800 ราย วงเงินสินเชื่อกว่า 1,800 ล้านบาท และมีการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 95 ราย วงเงิน 197.1 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่

อยู่ในภาคการผลิตมากกว่าร้อยละ 90 อาทิ สาขาอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่นับเป็นเมืองเศรษฐกิจหลักของภูมิภาคนี้ที่มียุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดภายใต้วิสัยทัศน์ “นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง” (City of Life and Prosperity) โดยมีสาขาอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป หัตถอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจสุขภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีเอสเอ็มอีจำนวน 95,911 ราย มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพมหานคร

โดยในส่วนของมาตรการส่งเสริมกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐที่เป็นวงเงินจัดสรรให้กับจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนทั้งสิ้น 204 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีผู้ยื่นขอรับความช่วยเหลือแล้วจำนวน 81 ราย วงเงินทั้งหมด 352,123,890 บาท ในจำนวนนี้ได้รับพิจารณาอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 6 ราย วงเงิน 25,100,000 บาท แสดงให้เห็นถึงความต้องการด้านเงินทุนและศักยภาพของผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีความตื่นตัวในการพัฒนาธุรกิจไปสู่ 4.0

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง 6 ราย ประกอบด้วย บริษัท ที แกลลอรี่กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท กาแฟวาวี จำกัด บริษัท ศิริเรืองอำไพ จำกัด บริษัท เชียงใหม่โพลสตาร์ (1992) จำกัด บริษัท นอร์ทเทิร์นกรีน โปรดักส์ จำกัด และบริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด โดยได้พาสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมผู้ประกอบการดังนี้

บริษัท ที แกลลอรี่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบธุรกิจด้านผลิตและจำหน่ายชา กาแฟ สมุนไพร และผลิตภัณฑ์อาหาร บริหารงานโดย นางสาว สุวลี เกียรติ์กรัณย์ โดยได้รับเงินกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจำนวน 3,000,000 บาท เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรเพิ่มกำลังและประสิทธิภาพการผลิต ที่ผ่านมาในปี 2557 ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยทำผลิตภัณฑ์ “ชาหมัก” เป็นจุดเริ่มต้นของการทำชาหมักในรูปแบบ madi และในปี 2559 เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง พื้นที่เป้าหมาย Thailand Food Valley (TFV)

โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากเงินกองทุนฯ คือรายได้โดยรวมเพิ่มจากเดิมประมาณร้อยละ 50 ต่อปี (รายได้เพิ่ม 15 ล้านบาท /ปี) รายได้จากยอดการจำหน่ายตลาดต่างประเทศ 8 ล้านบาทต่อปี การจ้างงานเพิ่มประมาณ 2 คน แลการกระจายรายได้สู่แปลงเพาะปลูกวัตถุดิบ 10 แห่ง (เกษตรกรประมาณ 120 คน)

บริษัท กาแฟวาวี จำกัด ผลิต จำหน่ายกาแฟครบวงจร โรงคั่วตั้งอยู่เลขที่ 88/8 ม.2 ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ บริหารงานโดย นายไกรสิทธิ์ ฟูสุวรรณ ได้รับเงินกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจำนวน 8,000,000 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ และขยายช่องทางการตลาด ที่ผ่านมาเข้าร่วมโครงการบริการเงินสมทบจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงการผลิต การจัดการตลาด (Consultancy Fund : CF) และโครงการพัฒนาสถานประกอบการเป้าหมายเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ใน

ปี 2558 เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ความต้องการตลาด (พัฒนากาแฟเชอรี่) ปี 2559 เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงในพื้นที่เป้าหมาย Thailand Food Valley (TFV) และปี 2560 เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุ

โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากเงินกองทุนฯ รายได้โดยรวมเพิ่มจากเดิมประมาณร้อยละ 34 ต่อปี รายได้เพิ่ม 23 ล้านบาทต่อปี รายได้จากยอดการจำหน่ายตลาดต่างประเทศ 3.5-5 ล้านบาทต่อปี การจ้างงานเพิ่มประมาณ 25 คน กระจายรายได้สู่ไร่กาแฟ 15 ไร่ เกษตรกรประมาณ 150 คน

บริษัท ศิริเรืองอำไพ จำกัด ตั้งอยู่ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ บริหารงานโดย นางอำไพ ศิรินันต์ ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูป ประเภท เครื่องเทศ และสมุนไพรอบแห้ง ได้รับเงินกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจำนวน 3,600,000 บาท เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในอดีตเคยเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการทำเตาอบแห้ง ในปี 2559 เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน พื้นที่เป้าหมาย Thailand Food Valley (TFV) เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยทำผงน้ำพริกปรุงรส โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (One Province One Agro-Industrial Product : OPOAI) และกิจกรรมการฝึกอบรมบ่มเพาะผู้ประกอบการและนักธุรกิจในภาคเหนือตอนบน 1 (Northern Strategic Industry Training and Incubation for Entrepreneurs : NSITE)

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากเงินกองทุนฯ รายได้โดยรวมเพิ่มจากเดิมประมาณร้อยละ 17 ต่อปี รายได้เพิ่ม 20 ล้านบาทต่อปี รายได้จากยอดการจำหน่ายตลาดต่างประเทศ 12 ล้านบาทต่อปี การจ้างงานเพิ่มประมาณ 5 คน กระจายรายได้สู่แปลงเพาะบลูกวัตถุดิบ 15 แห่ง เกษตรกรประมาณ 100 คน

โดยผู้ประกอบการที่ได้รับมีความตั้งใจที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น แต่ยังขาดปัจจัยด้านเงินทุน ทางกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงได้ให้ความดูแลและช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้และยั่งยืน ซึ่งคาดว่าภายหลังจากได้รับความช่วยเหลือแล้ว ผู้ประกอบการทั้ง 6 ราย จะสามารถเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจมากขึ้นอย่างต่อเนื่องปีละ 10 – 20%

และภายหลังจากที่ธุรกิจเอสเอ็มอีของจังหวัดเชียงใหม่ได้รับความช่วยเหลือตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้แล้ว คาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการลงทุนในสาขาธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุน เป็นจำนวนรวม 50,000 ล้านบาท (จากมูลค่าการลงทุนเมื่อปีก่อน 45,000 ล้านบาท) และขยายจำนวนการจ้างงานจากเดิม 313,948 คน เพิ่มขึ้นเป็น 330,000 คน ภายในปี 2561 ซึ่งหลังจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะได้เร่งขยายผลการดำเนินงานในลักษณะนี้ไปยังจังหวัดอื่น ๆ ให้ครบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศโดยเร็วต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทุกสาขา และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี www.smessrc.com หรือ Call Center 1358

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน