นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการหารือคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นัดพิเศษ ร่วมกับผู้บริหารชั้นนำของประเทศไทยผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ อาทิ นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ, นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ว่า หลังจากรัฐบาลประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ข้อ 1. ทาง กกร. ขอให้ภาครัฐดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นในห่วงโซ่การผลิตและการขนส่งสินค้า เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าที่จำเป็นขาดแคลน

สุพันธุ์ มงคลสุธี

 

เนื่องจาก กกร. มีความเป็นห่วงมากต่อภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่มหากต้องหยุดการผลิตหรือปิดกิจการ โดยเฉพาะบางอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อประชาชนอย่างมาก ไม่สามารถหยุดการผลิตได้ เช่น ไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน ก๊าซ พลังงานหมุนเวียน สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ยา สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยาง อาหาร น้ำตาล น้ำมันปาล์ม เครื่องจักรกลเกษตร การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ พลาสติก แก้วและกระจก เยื่อและกระดาษ อลูนิเนียม ล้วนมีความสำคัญในห่วงโซ่การผลิตอาหารและยาเป็นหลัก

“กกร. ยังขอเสนอให้ 2. เพิ่มเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ว่างงานหรือถูกเลิกจ้างจากเดิม 50% (แต่ไม่เกิน 7,500 บาท) เป็น 80% 12,000 บาท ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563 ข้อ 3. ให้งดการจ่ายประกันสังคมทั้งในส่วนของลูกจ้างและนายจ้างเป็นเวลา 4 เดือน ข้อ 4. ขอเลื่อนการจ่ายค่าน้ำค่าไฟออกไป 4 เดือน ข้อ 5. การให้เอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่ากรณีใช้งบประมาณเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563 เป็นเวลา 3 เดือน ข้อ 6. ให้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานสามารถให้บริการได้ต่อเนื่อง ข้อ 7. หน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจติดต่อกับภาคเอกชนสามารถให้บริการทางออนไลน์ ข้อ 8. ให้ผู้ขนส่งสินค้าสามารถขนส่งสินค้าได้ตลอดทั้งวันโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค”

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ กกร. อยู่ระหว่างติดตามผลกระทบและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยอมรับไม่ดีเท่าที่ควร โดยมีโอกาสปรับลดประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ลงอยู่ในระดับติดลบ จากปัจจุบันคาดไว้เติบโตที่ 1.5-2% การส่งออกลดลงกว่าเดิมที่คาดจะติดลบ 2% ถึงโต 0% เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายคาดไว้ที่ 0.8-1.5% อย่างไรก็ตาม กกร. จะรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนประมาณการณ์จีดีพีและการส่งออกให้รอบคอบชัดเจนใหม่อีกครั้ง ในการประชุมวันที่ 8 เม.ย.นี้

สำหรับความคืบหน้าการเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19 วงเงิน 1 แสนล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กสามารถกู้ยืมเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการรายละไม่เกิน 20 ล้านบาท เช่นสำหรับจ่ายค่าจ้าง เป็นต้นนั้น ขณะนี้ทางสมาคมธนาคารไทยยอมรับว่าธนาคารพาณิชย์มีความกังวลเรื่องหนี้เสีย จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามีบทบาทปล่อยสินเชื่อผ่านกองทุนและรับผิดชอบหนี้เสียด้วย

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเมินสถานกาณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 จะยังคงมีอยู่สักระยะหนึ่ง ภาคเอกชนพร้อมร่วมผลักดันและสื่อสารตามนโยบายรัฐ โดยเร่งรัดจัดหาหน้ากากอนามัยให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งในประเทศและนำเข้า

กลินท์ สารสิน

 

“เอกชนยังจำเป็นต้องบริหารจัดการในอุตสาหกรรมและบริการที่จำเป็น อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม เวชภัณฑ์การแพทย์ สื่อสาร ธนาคาร ธุรกิจการเกษตร พลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่ต้องป้อนอุตสาหกรรมข้างต้น ตลอดจนการจัดจำหน่าย การขนส่ง และโลจิสติกส์ รวมถึงมาตรการด้านเศรษฐกิจระหว่างประกาศภาวะฉุกเฉิน รัฐควรเน้นความเร็วและการเข้าถึง เพื่อให้ประชาชนสามารถยังชีพได้”นายกลินท์ กล่าว

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเตรียมปริมาณเงินสดในตู้เอทีเอ็ม 54,000 ตู้ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชน และมีสาขาธนาคารพาณิชย์เปิดดำเนินการได้ 6,000 แห่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ปรีดี ดาวฉาย

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าปริมาณการทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มไม่ได้เพิ่มขึ้น ขณะที่สถิติปริมาณการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ (โมบายแบงก์กิ้ง) หรือพร้อมเพย์) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอยู่ที่ประมาณ 14 ล้านรายการต่อวัน ทั้งเพื่อชำระค่าอาหาร สินค้าต่างๆ เพราะช่วยอำนวยความสะดวกในการไม่ต้องออกไปจับจ่ายใช้สอยนอกบ้าน เกิดความรวดเร็ว ปลอดภัยและไม่เสียค่าธรรมเนียม

อิสระ ว่องกุศลกิจ

 

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มน้ำตาลมิตรผล กล่าวว่า เอกชนและรัฐจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้โรคนี้หายไปและกลับมาฟื้นตัวอย่างเร็วที่สุด อีกทั้งในฐานะผู้ผลิตน้ำตาลและเอทานอลซึ่งนำไปใช้ในการผลิตแอลกอฮอล์ยืนยันว่ายังมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการแอลกอฮอล์ในการฆ่าเชื้อ แต่ต้องทำให้เกิดการกระจายอย่างได้ทั่วถึง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน