นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ขณะที่ทุกภาคส่วนกำลังช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่การประกอบกิจการและการใช้ชีวิตของคนในชุมชนยังคงต้องดำเนินต่อไป

ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลฯ โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลไปใช้ในหลากหลายมิติ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นระบบกักตัวเองของผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ ระบบสืบค้นข้อมูลอุปกรณ์ทางการแพทย์ ระบบการรายงานข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีบรรดาผู้ประกอบการ เกษตรกร ตลอดจนวิสาหกิจชุมชนที่กระจายตัวอยู่ในชนบทกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงผลพวงจากภัยแล้ง ซึ่งได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีวิตไม่น้อยไปกว่ากลุ่มคนเมือง

ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ ดีป้า เร่งปรับแผนการใช้งบประมาณ ประจำปี 2563 พร้อมปล่อยมาตรการที่สอง ภายใต้เม็ดเงินรวม 85 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs โรงงาน โรงแรม ธุรกิจบริการ ธุรกิจขนาดเล็ก ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย เกษตรกร และชุมชน รวมกว่า 7,500 ราย

“ตามภารกิจ ดีป้า ได้เร่งปรับงบประมาณ เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โรงงาน ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในการนำเทคโนโลยีไปใช้จัดการระบบโลจิสติกส์ การลดต้นทุน และการจัดการ ERP เพื่อเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและอนาคต ส่วน SMEs รายย่อย รวมทั้งเกษตรกร ดีป้า มีการออก Voucher สนับสนุนการใช้ Point of Sale (POS) เพื่อลดการติดเชื้อผ่านการสัมผัสธนบัตร การปรับรูปแบบการค้าสู่ระบบดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อบริหารจัดการน้ำแก่เกษตรกรรายย่อย รวมถึงระบบจัดการธุรกิจชุมชน การขนส่ง และการเฝ้าระวังความปลอดภัยภายในชุมชน” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดีป้า ยังคงประกาศรับข้อเสนอโครงการ เพื่อเร่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ภายใต้ 3 มาตรการดังต่อไปนี้

1. depa Digital Transformation Fund เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ตั้งเป้า SMEs โรงงาน โรงแรม ธุรกิจบริการ เกิดการประยุกต์ใช้ดิจิทัล รวม 4 ประกาศฯ แบ่งตามพื้นที่ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและกระบวนการภายใน ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มรายได้ โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.-15 พ.ค. 2563

2. depa Digital Transformation Fund for Community เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อชุมชนในชนบท ตั้งเป้า 198 ชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชนที่มีสมาชิกตั้งแต่ 20 หลังคาเรือนขึ้นไป รวมไม่น้อยกว่า 3,960 หลังคาเรือน แบ่งเป็น 6 ประกาศฯ ตามพื้นที่ เน้นด้านการผลิตอัจฉริยะ ด้านสังคมอัจฉริยะ ด้านการเกษตรอัจฉริยะ และด้านการค้าและการบริการอัจฉริยะ โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.- 31 ก.ค. 2563

3. depa mini Transformation Voucher มาตรการคูปองดิจิทัล เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ตั้งเป้า 3,560 ราย ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เน้นการเพิ่มยอดขาย และช่องทางการขายออนไลน์ สนับสนุนระบบ E-Commerce ช่วยฝ่าวิกฤตภัยแล้ง โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.- 18 พ.ค. 2563 โดยผู้สนใจรับการส่งเสริมสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://tinyurl.com/Thaifightcoviddepaxzipevent

“ทั้งหมดถือเป็นการปรับแผนการดำเนินงานตาม พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศ ซึ่ง ดีป้า จะอยู่เคียงข้างประชาชนทุกคน และเมื่อวิกฤตผ่านพ้น ประเทศไทยจะพร้อมเดินหน้าต่อได้ทันที” นายณัฐพล กล่าว

นอกจากนี้ ดีป้า ยังได้เตรียมแผนส่งเสริมเพื่อการพัฒนาบุคลากรดิจิทัล ซึ่งจะสามารถพัฒนาทักษะดิจิทัล รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการพัฒนาหลักสูตรตามสาขาที่ประเทศกำลังขาดแคลน โดยมาตรการต่างๆ จะเริ่มทยอยประกาศรับข้อเสนอโครงการออกมาอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.depa.or.th/thaifightcovid หรือ Scan QR Code

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน