สนค. จับตาภัยแล้งกระทบผลผลิตภาคเกษตรและราคาสินค้าเกษตรในปีนี้ ขณะที่เงินเฟ้อลดลงถึง 2.99% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันกับปีก่อน เป็นการหดตัวแรงมากที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน โดยสาเหตุหลักมาจากการระบาดของโควิด-19

เม.ย.เงินเฟ้อลดลงถึง 2.99% – น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. 2563 ว่า อัตราเงินเฟ้อลดลงถึง 2.99% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันกับปีก่อน เป็นการหดตัวแรงมากที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน โดยสาเหตุหลักมาจากการระบาดของโควิด-19 และการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 11 ปี 2 เดือน รวมทั้งสินค้าอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่ลดลง 5.28% โดยเฉพาะหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลง 9.77% ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงทุกประเภท และเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ หมวดเคหสถาน ลดลง 4.56% จากการลดลงของค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และสินค้าจำเป็นหลายรายการ (ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยารีดผ้า) ปรับลดลงจากมาตรการของภาครัฐเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน หมวดสินค้ายกเว้นสินค้าในกลุ่มผักและผลไม้ ลดลง 4.10% และดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. 2563 ลดลง 2.03% และเฉลี่ย 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ลดลง 0.44%

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 ยังมีโอกาสติดลบไปถึง 2.28% และน่าจะดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 หลังจากแนวโน้นการดูแลควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่สามารถจัดการดูแลได้เป็นอย่างดีน่าจะทำให้โอกาสการเปิดดำเนินธุรกิจต่างๆ ทำได้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับแนวทางกระตุ้นภาคธุรกิจของรัฐบาลที่จะออกมาน่าจะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศกลับมาดีขึ้น ส่งผลให้ประชาชนหันมาจับจ่ายใช้สอยในระบบเพิ่มมากขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4 จะกลับมาดีขึ้นเช่นกัน โดยปีนี้จะคาดหวังจากการท่องเที่ยวคงลำบากและสิ่งที่จะช่วยเศรษฐกิจไทยได้ คือ กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศด้วยการกินของไทยใช้ของไทยและใช้มาตรการผ่อนปรนให้กับภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อมด้วยมาตรการด้านภาษีเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ภัยแล้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรและราคาสินค้าเกษตรในปีนี้ ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในสถานการณ์หลังโควิด-19

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และแนวโน้มราคาพลังงานโลก ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ (ทั้งจากด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน) ในเดือนพ.ค. 2563 โดยสถานการณ์ราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากการตกลงเพื่อลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกมีแนวโน้มได้ข้อยุติ และความต้องการใช้น้ำมัน ของประเทศจีนและบางประเทศ ที่เริ่มกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติหลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย ในขณะที่ ภัยแล้งอาจส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิด ทำให้ราคามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น แต่จะถูกลดทอนด้วยปัจจัยด้านอุปสงค์ ที่ลดลงและฐานราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่สูงมากในปีก่อน โดยรวมแล้วราคาในเดือนพ.ค. 2563 น่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง ติดลบ 1.0 ถึง ติดลบ 0.2%” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน