ส.อ.ท. ห่วงเอสเอ็มอียังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ 5 แสนล้าน ชี้หวังนายจ้างฟื้นกลับมาเหมือนเดิมยาก จ่อลดแรงงานถาวร ด้านสสว. ติวเข้มเอสเอ็มอี 3 พันรายยกระดับมาตรฐานบัญชี

ส.อ.ท.ห่วงเอสเอ็มอี – นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการติดตามการดำเนินโครงการสินเชื่อซอฟต์โลนเพื่อเอสเอ็มอีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท พบว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอส เอ็มอี) ที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์มาก่อนยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ จึงต้องการให้ภาครัฐขยายวงเงินค้ำประกันผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็น 80% จากปัจจุบัน 40%

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ต้องติดตามภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดเพราะอาจได้รับผลกระทบมากขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งตลาดส่งออก เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่งช่วงไตรมาส 4 จากการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก เบื้องต้นจึงประเมินภาพรวมการจ้างงานหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จบลงมีแนวโน้มว่านายจ้างจะปรับตัว 3 ด้าน ได้แก่ ลดต้นทุนแรงงานให้เหมาะสมกับขนาดขององค์กร ตั้งทุนสำรองทางการเงินเผื่อไว้ฉุกเฉินเพิ่มขึ้น และการปรับตัวรองรับการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ

“หลังจบโควิด-19 นายจ้างคงจะฟื้นตัวได้ยากโดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะมีปัญหาสภาพคล่อง ขณะที่สถาบันการเงินก็จะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องตั้งสำรองทางการเงินเผื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน รายที่ไม่สามารถรับมือได้ก็อาจต้องปิดตัวลง แรงงานคงจะกลับมาไม่เท่าเดิม เพราะนายจ้างจะเลือกคนมากขึ้นและจะใช้นโยบายสมัครใจลาออก (เออร์ลี่ รีไทร์) เน้นนำเทคโนโลยีต่างๆ มาทำงานแทนคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด ตลาดจะไม่เหมือนเดิม การบริโภคชะลอตัวเพราะประชาชนใช้จ่ายลดลงและประหยัดมากขึ้น ธุรกิจคงต้องปรับตัวรองรับกับการบริโภคที่ไม่เพียงแต่เฉพาะในประเทศ ซึ่งจะรวมถึงการส่งออกที่ยังคงต้องอาศัยการฟื้นตัวที่คาดว่าจะกินเวลาอีก 1-2 ปี”

นอกจากนี้ การคลายมาตการล็อกดาวน์ให้ 6 กิจกรรมสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดทำให้มีแรงงานกลับเข้ามาในระบบได้ไม่เกิน 1 ล้านคน เนื่องจากร้านอาหารต้องจัดที่นั่งเว้นระยะห่าง จึงไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานรองรับจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ดังนั้นภาวะเศรษฐกิจไทยตลอดปีนี้ก็ยังน่าเป็นห่วง

ด้านน.ส.วิมลกานต์ โกสุมาศ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงโอกาสความช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐและสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่นอกระบบและมีระบบการจัดการบัญชีที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดความน่าเชื่อถือ สสว.จึงเร่งส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านโครงการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีด้วยระบบบัญชีเดียว ผ่านรูปแบบการอบรมและสร้างองค์ความรู้ด้านบัญชีให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดาและที่เป็นนิติบุคลแต่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องบัญชีเพียงพอ รวมถึงการพัฒนาผู้ให้บริการด้านบัญชีและที่ปรึกษาภาษีขนาดเล็ก ให้ปรับปรุงพัฒนาความรู้ด้านบัญชีให้ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์ เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อไปได้

“คาดจะมีผู้ประกอบการจำนวนกว่า 3,000 รายเข้าร่วมโครงการ สามารถนำความรู้ด้านบัญชีมาวางแผนเกิดเป็นแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถจัดทำแผนการเงินเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ไม่ต่ำกว่า 64 ล้านบาท และมีผู้ให้บริการด้านบัญชีและที่ปรึกษาภาษีมีศักยภาพเพิ่มขึ้นจำนวน 100 กิจการ”น.ส.วิมลกานต์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน