นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่ สำนักงาน คปภ. บูรณาการทำงานกับหลายภาคส่วน โดยเสนอแนวทางการปฏิรูปการประกันภัยการเกษตรให้เป็นวาระแห่งชาติ และเสนอให้มีการพัฒนากฎหมายเฉพาะเพื่อแก้ไขจุดอ่อนและข้อจำกัดในการดำเนินการประกันภัยการเกษตร ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ยั่งยืน และครบวงจร

ทั้งนี้ จากข้อมูลการทำประกันภัยข้าวนาปี ในปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งสิ้น 56.50 ล้านไร่ มีเกษตรกรทำประกันภัยข้าวนาปีในปี 2559 รวมทั้งสิ้น 1.51 ล้านราย มีพื้นที่เอาประกันภัย จำนวน 27.17 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 48.09 อันเป็นการทุบสถิติการทำประกันภัยข้าวสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2560 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบให้มีการปรับอัตราค่าเบี้ยประกันภัยตามที่ สำนักงาน คปภ และสมาคมประกันวินาศภัยไทยเสนอ

จากเดิมอัตราเบี้ยประกันภัย 100 บาทต่อไร่ ลดลงเป็น 90 บาทต่อไร่ เท่ากันทุกพื้นที่ และเพิ่มวงเงินคุ้มครองจากเดิม 1,111 บาทต่อไร่ เพิ่มเป็น 1,260 บาทอต่อไร่ ซึ่งเสนอให้รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในอัตรา 61.37 บาทต่อไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) และเสนอให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลือ 36 บาทต่อไร่ ให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 โดยที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการคลัง นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป เมื่อครม. มีมติเห็นชอบแล้วสำนักงานคปภ.จะบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งเดินหน้าโครงการนี้ทันที

ทั้งนี้ ในส่วนของความคุ้มครองตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรรันส์) แบ่งความคุ้มครองออกเป็น 2 หมวด ได้แก่ ความคุ้มครองหมวดที่ 1 ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ วงเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ และความคุ้มครองหมวดที่ 2 ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากศัตรูพืช หรือโรคระบาด โดยมีวงเงินความคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่

นอกจากนี้ หากเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ประกาศภัยพิบัติ อันเนื่องจากมีจำนวนพื้นที่ความเสียหายไม่เพียงพอต่อการประกาศเป็นสาธารณภัย ทางเกษตรอำเภอจะมีหนังสือแจ้งยืนยันไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่าเกษตรกรมีความเสียหายเกิดขึ้นจริง เพื่อที่จะได้ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบประกันภัยได้เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรหรือชาวนาไทยในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน