นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่า รถไฟไทยจีนเส้นทาง กทม.-โคราช และรถไฟไทยญี่ปุ่น เส้นทาง กทม.-เชียงใหม่ มีการทับซ้อนกัน และอาจทำให้ต้นทุนการบริหารงานการเดินรถสูง เนื่องจากมีเทคโนโลยี 2 ระบบ ว่า ประเด็นการใช้รางร่วมกันนั้นในระยะยาว ทั้งสองโครงการจะมีโครงสร้างทางวิ่งเฉพาะแยกออกจากกัน ตามเทคโนโลยีของแต่ละเส้นทางจึงไม่ทันซ้อน ส่วนประเด็นรถไฟ 2 เส้นทาง 2 ระบบนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีการออกแบบสถานีกลางบางซื่อไว้ใช้เป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายระบบการเดินทางอยู่แล้ว

ดังนั้น โครงสร้างทางวิ่งของ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (สายเหนือ) และเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (สายตะวันออกเฉียงเหนือ) ไม่ได้มีการเชื่อมต่อกันโดยตรง และในอนาคตหากมีการขยายโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง จะเป็นการขยายเส้นทางต่อเนื่องจากเส้นทางเดิมที่ได้ มีการเดินรถด้วยระบบเดิมอยู่แล้วออกไป ดังนั้นการใช้ระบบที่แตกต่างกันจึงไม่มีผลกระทบต่อการพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในอนาคต สำหรับประเด็นมีมองว่ารถไฟ 2 ระบบทำให้ต้นทุนบริการจัดการสูงนั้น ทั้ง 2 โครงการ เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของความช่วยเหลือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยต่อไป

นายชัยวัฒน์กล่าวถึงกรณีที่ระบุว่า กระทรวงคมนาคม ไม่ให้ข้อมูลจริงกับรัฐบาลเพราะต้องการให้รัฐบาลใช้ ม.44 ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ว่ากระทรวงคมนาคมรายงานผลการประชุมร่วมคณะกรรมการบริหารและชี้แจงข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งรัดให้โครงการเกิดได้เร็ว หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงมีคำสั่ง คสช. ที่ 30/2560 ซึ่งยกเว้นพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 ที่เกี่ยวข้องกับการขอรับใบอนุญาต

โดยมาตรา 49 เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นนิติบุคคล โดยในกรณีนี้รัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งจะมาเป็นคู่สัญญากับการรถไฟ ไม่อยู่ในข่ายที่จะมีคุณสมบัติตามมาตรา 49 เนื่องจากไม่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ส่วนกรณีมาตรา 45 และ 47 มีการยกเว้นเนื่องจากเป็นโครงการเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล การดำเนินการตามขั้นตอนจะทำให้โครงการล่าช้าและอาจเกิดผลกระทบต่อประเทศ ในภาพรวมได้ แต่ในคำสั่งกำหนดให้วิศวกรจีน และสถาปนิกจีนต้องได้รับการอบรมและทดสอบ จากสภาวิศวกร และสภาสถาปนิกตามความเหมาะสมด้วย

ส่วนประเด็นกระแสข่าวที่ระบุว่าจีนขอบริหาร 30 ปี ก่อนยกให้ไทยนั้นจะเห็นว่าโครงการดังกล่าวฝ่ายไทยลงทุนเองทั้งหมด 100% ภายหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ ฝ่ายไทยจะเป็นผู้เดินรถและบริหารทรัพย์สิน ที่เกี่ยวข้องเองทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นโครงการแรก ฝ่ายไทยยังไม่มีประสบการณ์ในการเดินรถ ดังนั้นในช่วงแรกของการเดินรถจึงกำหนดให้ฝ่ายจีน เป็นผู้ให้คำปรึกษา โดยต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมให้กับฝ่ายไทยด้วย ดังนั้น ผลประโยชน์จากการเดินรถ และการบริหารทรัพย์สินทั้งหมดจึงเป็นของฝ่ายไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน