นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ. … และพ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม พ.ศ. … มีผลบังคับใช้แล้วตามที่ได้ประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงพลังงานจะเร่งทำกฎหมายลูก 5 ฉบับ และกฎกระทรวง 1 ฉบับ เรื่องการใช้รูปแบบระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบสัญญาจ้างบริการ (เอสซี) โดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ กรมจะเร่งกำหนดเงื่อนไขการเปิดทีโออาร์คัดเลือกผู้ประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุปี 2565-2566 ในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบก็จะประกาศทีโออาร์ทันที

“ทุกอย่างยังเป็นไปตามกรอบเวลาที่ พล.อ.อนันตรพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กำหนด คือเปิดทีโออาร์ได้ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ และคัดเลือกผู้ชนะประมูลได้ภายในเดือนก.พ. 2561”

นายวีระศักดิ์ เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานหลังจากกรมสั่งระงับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ว่า นับตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. 2560 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ 7 บริษัท ที่ผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ ส.ป.ก.รวมประมาณ 3,000-4,000 ไร่ คิดเป็น 0.1% ของแหล่งผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ส.ป.ก. ทั้งหมดประมาณ 40 ล้านไร่ ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 47 ล้านบาทต่อวัน คิดเป็นปริมาณน้ำมันดิบที่หายไป 16,000 บาร์เรล/วัน จากปกติที่ผลิตน้ำมันดิบได้ 28,000 บาร์เรล/วัน

ซึ่งขณะนี้กรมอยู่ระหว่างรอคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามใช้อำนาจมาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ในที่ดินของ ส.ป.ก. ในส่วนของการสำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียม ซึ่งน่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อปลดล็อกให้เอกชนสามารถกลับมาดำเนินการผลิตปิโตรเลียมได้ และหลังจากนั้นอีก 1 เดือน จึงจะสามารถกลับมามีกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้เท่าเดิมที่ 28,000 บาร์เรล/วัน

“ตั้งแต่กรมสั่งระงับสัมปทานแหล่งผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ส.ป.ก. เป็นเวลา 20 วัน ส่งผลให้มูลค่าปิโตรเลียมของเอกชนหายไป 940 ล้านบาท แต่เมื่อมาตรา 44 มีผลบังคับใช้ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 1 เดือน จึงจะทำให้เอกชนทยอยกลับมาผลิตได้เต็มที่ ทั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าปิโตรเลียมที่เอกชนได้รับความเสียหายมากกว่า 1,000 ล้านบาท รัฐสูญเสียค่าภาคหลวงกว่า 125 ล้านบาท และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เสียรายได้ท้องถิ่นอีก 75 ล้านบาท”

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากมาตรา 44 มีผลบังคับใช้ จะมีความชัดเจนเรื่องการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อการเกษตร จากเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาเคยมีการเรียกเก็บในอัตรา 20% ของราคาที่ดินประเมินตามเกณฑ์ของกรมธนารักษ์แล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการ โดย ส.ป.ก. จะเป็นผู้กำหนดอัตราเรียกเก็บใหม่ อัตราเท่าไหร่ รวมถึงอาจจะมีการเรียกเก็บย้อนหลังหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับส.ป.ก.จะพิจารณา

อย่างไรก็ตาม หากเรื่องดังกล่าวมีความชัดเจนในเรื่องข้อกฎหมาย กรมจะทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทผู้รับสัมปทานที่ได้รับผลกระทบให้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด หลังจากนี้เอกชนรายใหม่ที่จะขอใช้พื้นที่ส.ป.ก. จะต้องดำเนินการขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งกรมดำเนินงานร่วมกับ ส.ป.ก. ในรายละเอียดของการกำหนดพื้นที่เพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมให้มีความชัดเจนและเหมาะสมต่อไป

ขณะเดียวกันจะมีแผนบูรณาร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมป่าไม้ กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า เป็นต้น เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมเพื่อให้เกิดความมั่นคง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน