ค้าปลีกโคม่าหนักไตรมาส 2 คาดติดลบดิ่งสุด 50% นาน 8-24 เดือนฟื้นตัว สมาคมผู้ค้าปลีกเสนอนายกฯ พิจารณามาตรการภาษี กระตุ้นการจับจ่าย พร้อมออก Soft Loan ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก

ค้าปลีกอาการโคม่า – นายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า คาดการณ์การฟื้นตัวธุรกิจค้าปลีกตัวเลขดัชนีค้าปลีก ที่ออกมาในไตรมาสที่ 1 นี้ จะไม่ใช่ตัวเลขที่ต่ำที่สุด แต่จะอยู่ในไตรมาสที่ 2 โดยรวมในไตรมาสหนึ่งลดลงกว่า 3-7% และในไตรมาส 2 จะเห็นการเติบโตติดลบมากถึง 20-50% ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกในย่านเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ รวมถึงร้านค้าปลีกแฟชั่น เครื่องหนัง เครื่องสำอาง ได้รับผลกระทบมากที่สุด

อย่างไรก็ดี เมื่อมาตรการผ่อนคลายความเข้มข้น ธุรกิจค้าปลีก คาดว่าจะเริ่มทรงตัว แต่การเติบโตก็ยังไม่เหมือนเดิม คาดว่ายังคงติดลบมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว สมาคมฯ คาดว่า ธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้า จะพลิกฟื้นกลับมาจุดเดิมคงต้องใช้เวลา 8-24 เดือน หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวมากหรือน้อย

ทางสมาคมฯ จึงมีนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ดังนี้ 1. การจ้างงาน วิกฤตครั้งนี้สร้างผลกระทบต่อแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า ที่มากสุดก็คือ ภาคบริการ ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สมาชิกสมาคมฯ และศูนย์การค้า รวมถึงเครือข่ายภาคีค้าปลีกต่างจังหวัด มีต้องการให้คงการจ้างงานที่มีอยู่ 1.1 ล้านคน และจะไม่มีการเลิกจ้างแต่อย่างใด

2. การสร้างงาน สมาชิกสมาคมฯ ที่ดำเนินธุรกิจศูนย์การค้ากว่า 100 ศูนย์การค้า รวมทั้งพื้นที่การค้าในไฮเปอร์มาร์เก็ตอีกกว่า 350 สาขา จะจัดสรรพื้นที่ให้กลุ่มอาชีพอิสระและแรงงานพาร์ตไทม์ มาจำหน่ายสินค้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งสมาคมฯ เชื่อว่าจะสามารถสร้างงานเพิ่มขึ้นอีก 120,000 อัตรา 3. เพิ่มรายได้ ธุรกิจค้าปลีกมีการซื้อสินค้าจากกลุ่มกลุ่มเกษตรกรโดยตรงปีละ 1.8 หมื่นล้านต่อปี สมาชิกของสมาคมฯ จะเพิ่มการซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านบาทต่อปี และ 4. ลดภาระค่าครองชีพ โดยจะตรึงราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนกว่า 50,000 รายการตลอดปี

“ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อธุรกิจค้าปลีกที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากการล็อกดาวน์ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานที่บันเทิงพักผ่อนคลายร้อน ร้านอาหาร ภัตตาคาร ที่ชัดเจน ทำให้ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจบริการหยุดชะงัก ส่งผลขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง, ผู้ประกอบเอสเอ็มอีและเกษตรกรกว่า 400,000 ราย ซึ่งเป็นห่วงโซ่ขาดรายได้ ส่งผลกระทบต่อหนี้ทางธุรกิจ ธุรกิจจะฟื้นคืนกลับมาสู่จุดเดิมต้องใช้เวลา 8-24 เดือน ตลอดจนภาวะการว่างงานและการจ้างงานไม่เต็มอัตราเป็นจำนวนมากซึ่งคาดว่าจะมีกว่า 3-5 ล้านคน”








Advertisement

ทางสมาคมฯ จึงได้นำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในระยะสั้น 1. การอนุมัติ Soft Loan ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก เพิ่มสภาพคล่องแก่วิสาหกิจ เอสเอ็มอี และเกษตรกร ด้วยการอนุมัติ Soft loan ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องใหม่ของหลายคน แต่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้และตรงเป้าที่สุด ธุรกิจค้าปลีกเปรียบเสมือนแพลตฟอร์มใหญ่ที่เชื่อมต่อผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เกษตรกร สู่ผู้บริโภค การพิจารณาสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการกว่า 400,000 ราย ผ่านแพลตฟอร์มกลุ่มธุรกิจค้าปลีก การพิจารณา Soft Loan ให้กับผู้ประกอบการผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก จะเป็นช่องทางที่จะถึงมือผู้ประกอบการโดยตรงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

2. ช่วยเหลือค่าครองชีพแก่แรงงานภาคค้าปลีกและบริการผ่านระบบประกันสังคม โดยเสนอให้ขยายมาตรการเยียวยาในระบบประกันสังคมให้ยังได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิประกันสังคมต่อไปอีกจนถึงสิ้นปี 2563, ผ่อนผันให้มีการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อแรงงานมีความยืดหยุ่นในการเพิ่มรายได้ 3. กระตุ้นแคมเปญการจับจ่ายและการบริโภค เสนอให้นำโครงการ “ช้อป ช่วย ชาติ” กลับมาสามารถช็อปได้ทุกสินค้า โดยมีวงเงิน 5 หมื่นบาท ตั้งแต่เดือนมิ.ย.จนถึงธ.ค. และผลักดันโครงการ “ไทยเที่ยวไทย ไทยช้อปไทย” เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

4. มาตรการช่วยลดต้นทุน และเสริมสภาพคล่องธุรกิจค้าปลีก โดยพิจารณาเลื่อนการจ่ายภาษีนิติบุคคลในงวดครึ่งปีหลังของปี 2562, พิจารณาลดภาษีนิติบุคคลจากอัตรา 20% เป็น 10% เป็นเวลา 3 ปี, พิจารณายกเว้นภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน ประจำปี 2563-2564, พิจารณาให้นำงบการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการยกระดับสาธารณสุขเพื่อให้อาคารสถานที่ปลอดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 3 เท่า, พิจารณาปรับลดเงินสมทบประกันสังคมในส่วนนายจ้างจาก 4% เป็น 1% ตั้งแต่เดือนเม.ย.จนถึงเดือนธ.ค. 2563, พิจารณาลดอัตราค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ลงอย่างน้อย 15% จากอัตราปกติเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี

พร้อมกันนี้พิจารณาให้นำงบการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการลงทุนเพื่อสร้าง Digital Infrastructure เพื่อสร้าง Ecosystem สู่การ Work from Home และe-commerce ตามนโยบาย Thailand 4.0 มาเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 3 เท่า โดยเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เพื่อรับฟังสถานการณ์ และข้อเสนอแนะจากสมาคมฯ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน