สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ห่วงเกิดภาวะ ‘แล้งในฤดูฝน’ บิ๊กป้อม สั่งจับตาหลังหลายพื้นที่น้ำประปาเริ่มมีปัญหา จี้คลายปมหวั่นขาดน้ำกิน-ใช้

สทนช. ห่วง ‘แล้งในฤดูฝน’ – นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2563 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝน ปี 2563 (1 พ.ค.-31 ต.ค. 2563) มีปริมาณน้ำต้นทุนฤดูฝน ณ วันที่ 1 พ.ค. 2563 มีทั้งสิ้น 37,433 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะที่ประเมินความต้องการใช้น้ำรายกิจกรรม ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน รวม 83,085 ล้านลบ.ม.

แบ่งออกเป็น 1. อุปโภค-บริโภค 3,653 ล้านลบ.ม. 2. รักษาระบบนิเวศ 11,496 ล้านลบ.ม. 3. เกษตรกรรม 67,166 ล้านลบ.ม. แผนการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 76.271 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 27.61 ล้านไร่ นอกเขตประทาน 48.66 ล้านไร่ และ 4. อุตสาหกรรม 770 ล้านลบ.ม. จากปริมาณน้ำที่ต้องการในส่วนที่เหลือจะอาศัยปริมาณน้ำฝนอีกประมาณ 63,372 ล้านลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมการวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สทนช. ร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกรมส่งเสริมการเกษตร จะร่วมกันประเมินสถานการณ์และคาดการณ์การจัดสรรน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 36 แห่ง ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำในพื้นที่เขตชลประทานจนสิ้นสุดฤดูฝน 30 ต.ค. 2563 โดยวางแผนปรับปริมาณการใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ และรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะอนุกรรมการฯ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป

ขณะนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว เกษตรกร ชาวนา สามารถทำนาได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือเรื่องปัญหาน้ำกิน น้ำใช้ หลายหมู่บ้าน กำลังมีปัญหาเรื่องประปาชุมชน ต้องเร่งดำเนินการใช้กลไก ของอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดเพื่อขับเคลื่อน โดยประปาในจังหวัดนครราชสีมา ก็มีปัญหา ต้องเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วเพื่อไม่ให้กระทบน้ำกินน้ำใช้ของประชน

ส่วนปริมาณสะสมน้ำฝนทั้งประเทศในช่วง ม.ค.-30 มี.ค. ยังคงต่ำกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคใต้ มีปริมาณฝนสะสมน้อยกว่าค่าปกติถึง 50-75% ส่วนคาดการณ์ในช่วง พ.ค.-มิ.ย. 2563 พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่จะมีฝนใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ จะมีฝนต่ำกว่าปกติ และในช่วง พ.ค.-ก.ย. 2563 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนต่ำกว่าค่าปกติ

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่จะเกิดฝนทิ้งช่วงได้ในช่วงระหว่าง มิ.ย.-ก.ค. อาจส่งผลให้บางพื้นที่ประสบสถานการณ์แล้งได้ แม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซ้ำรอยปี 2562 จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังปัญหาแล้งในบางพื้นที่ด้วย รองนายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้มีกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกันวางแผนรองรับในระยะยาว ควบคู่ไปกับการเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำรองรับช่วงฤดูฝนนี้ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน